ความเหิมเกริมของมิจฉาชีพออนไลน์ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทยทุกหมู่ ทุกเหล่า ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ อาชีพการงาน การศึกษา แม้แต่แพทย์ ทหาร ตำรวจ วิศวกร ล้วนตกเป็นเหยื่อได้อย่างไม่คาดคิด
ตั้งแต่เดือน มี.ค.2565-พ.ย.2567 ยอดแจ้งความผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์มีมูลค่าสะสมรวม 77,360 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท ข้อมูลเฉพาะช่วงวันที่ 1-30 พ.ย.67 มีความเสียหายจำนวน 2,540 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 85 ล้านบาท
คดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ)
2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 4.หลอกให้กู้เงิน และ 5.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น
ในโอกาสเปิดศักราชใหม่ปี 2568 มงคลชีวิตข้อ 1 แห่งปี น่าจะต้องเป็นการตั้งเป้าหมายให้คนไทยไม่ “ถูก” หลอกลวงได้โดยง่ายเช่นปีที่ผ่านๆมา
ยิ่งโลกออนไลน์เปรียบเสมือนสนามแม่เหล็กซับซ้อนที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายและสิ่งล่อตาล่อใจ มิจฉาชีพเปรียบเหมือนกับนักล่าที่ซุ่มซ่อนอยู่ในพุ่มไม้แห่งเทคโนโลยี คอยจ้องจับช่องโหว่และความไม่ระมัดระวังของเหยื่อ ด้วยอาวุธทางเทคโนโลยีที่ผ่านการศึกษาพฤติกรรมของเหยื่อมาเป็นอย่างดี ใช้กลวิธีหลอกลวงราวกับศิลปินผู้เชี่ยวชาญและแยบยล
แค่กดปุ่มผิด! คลิกลิงก์ไม่ระวัง! หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวสุ่มสี่สุ่มห้า! เงินในบัญชีอาจหายวับไปในพริบตา ไร้วี่แววและยากที่จะติดตามคืน
เพื่อหวังสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งขึ้น “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้รวบรวมชุดความรู้และข้อเสนอแนะจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และ สมาคมธนาคารไทย มานำเสนอแก่ผู้อ่าน เพื่อให้ท้องฟ้าของปีใหม่ 2568 เป็นสีทองผ่องอำไพ คนไทยไม่ “ถูก” หลอกง่ายๆเหมือนเดิม
มิจฉาชีพมีการพัฒนากลโกงอยู่ตลอดเวลา เริ่มจาก SMS หลอกลวง โดยส่ง SMS จากเครือข่ายปลอมด้วยอุปกรณ์ผิดกฎหมายไปยังมือถือประชาชน ที่เรียกว่า False Base Station (FBS) โดยใช้ชื่อผู้ส่ง (Sender name) ปลอมในนามองค์กร อาทิ ธนาคาร, ผู้ให้บริการมือถือ หลอกให้เชื่อว่าเป็น SMS จากหน่วยงานนั้นจริง และล่อลวงให้กดลิงก์, แอดไลน์ หรือกระตุ้นให้คลิก เช่น คะแนนสะสมกำลังหมดอายุ เพื่อให้ลูกค้าหลงเชื่อ โดยมิจฉาชีพจะมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกให้กดเข้าไปกรอกข้อมูลสำคัญอันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์สิน
นอกจากนั้นยังมีกรณีใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียแอบอ้างใช้แอ็กเคาต์ปลอม แอบอ้างเป็นแอดมินเพจบริการต่างๆ หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยการเข้าไปโต้ตอบคอมเมนต์ในช่องแสดงความคิดเห็น จากนั้นหลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า อาทิ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่, หมายเลขสมาชิกอินเตอร์เน็ตบ้าน หรือรายละเอียดทางการเงิน หลอกเชิญชวนลงทุนผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยแอบอ้างโลโก้หรือภาพผู้บริหาร เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะหลอกให้สมัครเป็นเพื่อนใน LINE Open Chat หลอกให้ชำระค่าบริการ หรือโอนซื้อ/ขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง
และที่แสบสันไม่แพ้วิธีการใด คือขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นพนักงานองค์กรต่างๆ โทร.ผ่าน SIM Box แสดงเป็นทั้งเบอร์มือถือ 0XX-XXXXXXX หรือเบอร์ 02-XXXXXXX หรือ VoiP เบอร์ที่มีเลขมากกว่า 10 หลัก แล้วแจ้งว่า มีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า อาทิ ชื่อ ที่อยู่ บัตรประชาชน ไปเปิดเบอร์และดำเนินการผิดกฎหมาย หลอกว่าต้องโอนสายไปยังตำรวจ ซึ่งถือเป็นจุดที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อลูกค้าทั้งในแง่การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และสูญเสียทรัพย์สิน
รวมทั้งยังมีการส่งจดหมายหรือเอกสารแอบอ้างองค์กรและผู้บริหาร ปลอมแปลงเอกสารบริษัทต่างๆ มีการลงนามโดยผู้บริหารสูงสุด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วแจ้งไปยังประชาชนว่ามีเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย จากนั้นจะหลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือหลอกให้โอนเงิน
นอกจากมีสติอยู่เสมอแล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องตระหนักรู้คือ อย่าหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการกดลิงก์, แอดไลน์หรือตอบกลับ SMS รวมถึงงดให้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น เลขบัตรประชาชน, เลขบัตรเครดิต และวันเดือนปีเกิด รวมถึงรหัส OTP ในการทําธุรกรรมใดๆแก่แหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ Official Account Social Media ต่างๆที่สื่อสารด้วย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก (facebook), อินสตาแกรม (IG), ติ๊กต่อก (TT), X หรือไลน์ (LINE) โดยแอ็กเคาต์ที่น่าเชื่อถือต้องมีเครื่องหมายหรือ เครื่องหมายโล่ ในบริเวณหน้าเพจ Official หรือโปรไฟล์ภาพ, มีจำนวนผู้ติดตามในจำนวนที่เหมาะสม รวมถึงต้องมีการโพสต์เนื้อหาอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น หากได้รับข้อมูลที่น่าสงสัย สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ Official Web Site ของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้นๆ หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานความมั่นคง
รวมทั้งต้องระมัดระวัง ไม่เข้าร่วมกลุ่ม LINE Open Chat ที่ไม่ทราบที่มาที่ไป และไม่มีแอดมินที่น่าเชื่อถือ เพราะอาจมีความเสี่ยงจากการโดนหลอกลวงและไม่สามารถติดตามได้
วิวัฒนาการของอาชญากรรมทางการเงินเริ่มจากยุคปี 2554-2556 ที่การโกงส่วนใหญ่ยังเป็นแบบดั้งเดิม เช่น การปลอมแปลงเช็ค และนักทุจริตทำงานแบบ Manual ต่อมาในช่วงปี 2557-2560 เริ่มมีการโกงผ่านอินเตอร์เน็ตและมือถือมากขึ้น พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ธนาคารต้องเริ่มพัฒนาระบบป้องกันการทุจริตแบบอัตโนมัติ
จนก้าวเข้าสู่ปี 2561-2564 เป็นยุคโซเชียลมีเดียที่การหลอกลวงออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น มิจฉาชีพเริ่มใช้ข้อมูลส่วนตัวจากโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ และคิดค้นรูปแบบการหลอกลวงใหม่ๆ และในช่วงปัจจุบันปี 2565-2567 เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าถึงขั้นที่มิจฉาชีพเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการวิเคราะห์และหาช่องโหว่ ทำให้การโจมตีมีความอัตโนมัติและซับซ้อน บังคับให้ธนาคารต้องพัฒนาระบบป้องกันที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตามไปด้วย
จากวิวัฒนาการที่ผ่านมาทำให้เชื่อได้ว่าอาชญากรรมทางการเงินจะไม่หยุดนิ่ง เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม มีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มิจฉาชีพสามารถสวมรอยเป็นบุคคลอื่น สร้างเรื่องราวที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อ
การโอนเงินรูปแบบที่น่ากลัวที่สุด คือการใช้ข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลจากอินเตอร์เน็ตมาสวมรอยและสร้างเรื่องเร่งด่วน เช่น แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้อง โดยสร้างความกดดันทางอารมณ์ให้เหยื่อรีบตัดสินใจโอนเงิน
บางรายใช้ AI สร้างเสียงพูดเลียนแบบบุคคลที่เหยื่อรู้จัก ทำให้การหลอกลวงดูสมจริงมากขึ้น และยังมีรูปแบบการหลอกลวงที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การสร้างแพลตฟอร์มลงทุนปลอม การหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันปลอม การสร้างเว็บไซต์เลียนแบบสถาบันการเงิน รวมถึงการใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างการหลอกลวงแบบเจาะจง
มิจฉาชีพสามารถรวบรวมข้อมูลส่วนตัว ความสนใจ และพฤติกรรมของเหยื่อ เพื่อออกแบบกลอุบายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร้อยทั้งร้อยเหยื่อที่ถูกคนที่รู้ชื่อ อายุ ที่อยู่ อาชีพ รวมถึงความชอบ มาหลอกเอาเงินโดยอ้างเหตุการณ์ที่เป็นจุดอ่อน แทบไม่มีโอกาสรอดพ้นเงื้อมมือมิจฉาชีพ
การที่สังคมไทยจะป้องกันอาชญากรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถี่มากยิ่งขึ้นได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือหลักจาก 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวประชาชนเอง
สำหรับภาครัฐ ควรมีมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินอย่างเป็นระบบและครอบคลุม โดยเริ่มจากการปรับปรุงกฎหมายให้มีบทลงโทษที่เด็ดขาดและชัดเจน พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับการทุจริตด้วย AI ควบคู่ไปกับการให้การศึกษาประชาชน ในเรื่องการรู้เท่าทันทางการเงิน สร้างระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มงวด ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และออกมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ปลอดภัย โปร่งใส และน่าเชื่อถือ
สำหรับภาคเอกชน โฟกัสในส่วนของธนาคารพาณิชย์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน กลุ่มอาชญากรทางเทคโนโลยี มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการในการหลอกลวงได้เร็วกว่าภาคธนาคาร เนื่องจากธนาคารมีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยน เมื่อเจอภัยในรูปแบบต่างๆ
ธนาคารจึงต้องเพิ่มความสามารถในการพัฒนาการปฏิบัติงานให้ก้าวล้ำและเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการป้องกันให้รวดเร็วขึ้น เพื่อสอดคล้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ด้วยกลยุทธ์ที่ครอบคลุมและทันสมัย ประกอบด้วยการพัฒนาระบบตรวจจับธุรกรรมเพื่อตรวจจับความผิดปกติของธุรกรรมแบบเรียลไทม์ การสร้างชั้นความปลอดภัยหลายระดับในการยืนยันตัวตน เช่น การพิสูจน์ตัวตน 2 ขั้นตอน (2FA), การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น สแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ, การฝึกอบรมบุคลากรอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันกลลวงใหม่ๆ, การสร้างระบบการแจ้งเตือนและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์อย่างครอบคลุม รวมถึงการออกแบบแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัยสูง มีระบบตรวจสอบและบล็อกการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยอย่างทันท่วงที เพื่อปกป้องลูกค้าและระบบการเงินจากภัยคุกคามที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงยังสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนยังคงไม่ตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับตนเอง ประชาชนควรตระหนักถึงความปลอดภัยทางการเงินด้วยการสร้างกรอบความคิดและวินัยที่เข้มแข็ง เริ่มจากการไม่เชื่ออย่างง่ายดายกับข้อเสนอที่ดูดีเกินจริง, อย่าหลงเชื่อคนในสังคมโลกออนไลน์, ไม่รับสายเบอร์ที่ไม่มีการบันทึกเอาไว้, มีสติในการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลและบุคคลที่ติดต่ออย่างละเอียด, ไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย, ใช้รหัสผ่านที่ซับซ้อนและเปลี่ยนบ่อย, พยายามตรวจสอบยอดเงินและรายการใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ, ระมัดระวังการคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์จากแหล่งที่ไม่รู้จัก
และสำคัญที่สุด คือการสอนและแบ่งปันความรู้ให้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่เข้มแข็ง เพื่อปกป้องตนเองและครอบครัวจากภัยอาชญากรรมทางการเงินที่ซับซ้อนและแยบยลในปัจจุบัน
การสร้างเกราะป้องกันเหล่านี้จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการตื่นรู้และมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน วาระสำคัญนี้ไม่ใช่เพียงแค่การป้องกันตัวเอง แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของสังคมที่ฉลาดรู้และระมัดระวัง ปิดกั้นช่องว่าง ตัดวงจรการหลอกลวง และส่งต่อความปลอดภัยให้กับคนรุ่นต่อไป จนอาชญากรรมทางการเงินกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้และระมัดระวัง.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม