ขึ้นค่าแรงผลักนายจ้างหันหา AI ขยับขั้นต่ำ 400 บาททำรายได้เพิ่ม 3 พัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขึ้นค่าแรงผลักนายจ้างหันหา AI ขยับขั้นต่ำ 400 บาททำรายได้เพิ่ม 3 พัน

Date Time: 25 ธ.ค. 2567 09:03 น.

Summary

  • ครม.เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 4+1 จังหวัดนำร่อง มีผล 1 ม.ค.68 แจงรวมฉะเชิงเทราเพราะอยู่ในเขตอีอีซี ด้านเอกชนอ้อมแอ้มขึ้นค่าแรงพอรับได้ แต่อยากให้ช่วยนายจ้างรายย่อยและภาคเกษตร ด้านนักวิชาการชี้ส่งผลดีทำให้คนมีรายได้เพิ่มเดือนละ 3 พัน แต่เชื่อทำให้นายจ้างหันไปใช้ AI มากขึ้นแน่

Latest

“สุริยะ” สานฝัน “รถไฟไทย” โกอินเตอร์ จุดเปลี่ยนระบบรางสู่มาตรฐานที่ยั่งยืน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 ว่า ครม.รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มวันละ 7-55 บาท เป็นอัตราวันละ 337-400 บาท จากเดิมอัตราวันละ 330-370 บาท โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัดและ 1 อำเภอ ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่องก่อน โดยในจังหวัดอื่นๆจะทยอยปรับตามแผนที่กระทรวงแรงงานจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า มติคณะกรรมการไตรภาคีดำเนินการไปตามความเหมาะสม โดย 4 จังหวัด แบ่งเป็น จังหวัดท่องเที่ยวสูงสุด 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต และ อีก 3 จังหวัดอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนการหารือปรับเพิ่มค่าแรงในรอบถัดไป จะหารือกันอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำมีการหารือกันมากกว่าวาระอื่นๆ โดยมีการตั้งคำถามว่า จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ควรอยู่ในกลุ่มนี้เนื่องจากยังไม่เจริญเท่าจังหวัดอื่น แต่มีคำชี้แจงว่าเนื่องจาก จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี จึงกำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกรณีที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า หอการค้าไทยพร้อมสนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกรอบกฎหมาย โดยค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ ภาพรวม ปรับขึ้นเฉลี่ย 2% ถือว่าเหมาะสมกับพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการเข้ามาดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย “ในพื้นที่เหล่านั้น จะมีภาคเกษตรหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 400 บาท ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาเพื่อประคอง”

ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมพร้อมติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าจากผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างใกล้ชิด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น ปลากระป๋อง อาหารทะเล อาหารตามสั่ง เป็นต้น แต่ต้นทุนการผลิตสินค้า ไม่ได้มีเพียงต้นทุนจากค่าแรง ยังมีต้นทุนอื่นๆอีกอาจลดลงด้วย “ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจะกระทบเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด มีหลายปัจจัยประกอบการพิจารณา ส่วนจะมีผลให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าหรือไม่นั้น มองว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม โดยจะติดตามดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ไม่ให้นำมาเป็นข้ออ้าง”

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ปรับขึ้นเกือบ 3% หรือประมาณ 10 บาท ซึ่งเป็นผลดี ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งผู้ประกอบการมองว่ายังรับได้ และจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้อีกราวๆ 0.2% ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ต้นทุนสินค้าปรับขึ้น 2.5- 5% แต่เชื่อว่าจะกระทบเงินเฟ้อไม่มาก โดยคาดว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจชะลอการดึงดูดการลงทุน แต่จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหันไปใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มากขึ้น.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ