นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการส่งออกไทยปี 68 ว่า ประเมินว่า ปี 68 เศรษฐกิจไทยคาดขยายตัวได้ 2.4% หรืออยู่ในกรอบ 2.2-2.7% ลดลงจากปี 67 ที่คาดขยายตัว 2.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ที่จะเติบโตได้ 4.7% และเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่า 3% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นับตั้งแต่ปี 62 ส่งผลให้ไทยยังคงเป็นผู้ป่วยด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เพราะมีอัตราเติบโตเป็นอันดับ 9 โดยมีเวียดนามและกัมพูชา ขยายตัวมากสุดที่ 6.2% ส่วนการบริโภคของไทยปี 68 คาดขยายตัว 2.3% การลงทุน ขยายตัว 3.7% การส่งออกขยายตัว 2.2% และการนำเข้าขยายตัว 3.0%
ทั้งนี้ มี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ได้แก่ หนี้ครัวเรือน, เศรษฐกิจ โลกจากนโยบายการลงทุนและอัตราดอกเบี้ย, นโยบายทรัมป์ 2.0, เศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่า 5% และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยลดลง 1.0-1.7% โดยประเมินว่า หากสงครามในภูมิภาคต่างๆยังอยู่ในพื้นที่ นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยหากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10% เศรษฐกิจไทยจะลดลง 0.3-0.5% เหลือขยายตัวได้ 1.9-2.2% การส่งออกไทยภาพรวมโตได้ 1.9% เพราะการส่งออกไปสหรัฐฯลดลง 5-10% รายได้จากการส่งออกหายไป 100,000-190,000 ล้านบาท
ขณะที่การนำเข้าภาพรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% เพราะนโยบายทรัมป์ 2.0 จะบังคับให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 14% จนไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯลดลงเหลือ 27,500 ล้านเหรียญฯ จากเกือบ 30,000 ล้านเหรียญฯ ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี สินค้าที่คาดว่าสหรัฐฯจะเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้า พลาสติก เครื่องจักร ยางพารา ผลไม้สด อาหารทะเล ข้าว ฯลฯ
ส่วนปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ หากสงครามยังอยู่ในพื้นที่จะส่งผลกระทบต่อไทยในระดับรองลงมา โดยจะทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 0.2-0.3% แต่หากขยายวงกว้างกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เศรษฐกิจไทยจะติดลบสูงถึง 15% ตามด้วยผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจไทยจะลดลง 0.2-0.3% เพราะไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากถึง 15% โดยประเมินว่า จากปัจจัยนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลงเหลือ 7 ล้านคน จากเฉลี่ยที่ 10-11 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปทุกๆ 100,000 คน รายได้ของไทยจะหายไป 5,600 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษี
นำเข้าสินค้าจีน 60% และสินค้าเหล่านั้นจะทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น 20-30% มูลค่ากว่า 370,000 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่านำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านบาท จาก 1.4 ล้านล้านบาท และไทยขาดดุลการค้าจีนสูงสุดในรอบ 6 ปี มาอยู่ที่ 46,000 ล้านเหรียญฯ
อีกทั้งเอสเอ็มอีไทยจะล้มหายตายจากมากขึ้น จากการแข่งขันกับสินค้าจีนไม่ได้ นอกจากนี้ หากสหรัฐฯเก็บภาษีจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRICS) ที่มีทั้งจีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ ฯลฯ อีก 100% และหากไทยเข้าเป็นสมาชิก ไทยก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย สำหรับหนี้ครัวเรือน คาดว่า ปี 68 หนี้ครัวเรือนไทยจะกลับขึ้นมาอยู่ที่ 91% ของจีดีพี จากปี 67 ที่คาดอยู่ที่ 90% มูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท โดยไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุดในอาเซียน “ปี 68 สามารถสรุปชะตากรรมของเศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันขั้นวิกฤติได้ดังนี้ จีดีพีไทยจะโตต่ำกว่าปี 67, เอสเอ็มอีไทยปิดตัวมากขึ้น หรือถูกเทกโอเวอร์จากนักลงทุนต่างชาติ, การว่างงานจะเพิ่มขึ้น และที่สำคัญยังขาดแนวทางที่จะแก้ปัญหานโยบายทรัมป์ 2.0 ปี 68 จึงไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่