สัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ช่วยบรรเทาภาระหนี้สินให้กับรายย่อยของรัฐบาล น่าจะเป็นโครงการที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจ
โดยจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่กู้เงินมาแล้วมากกว่า 1 ปี และตอนนี้เป็นหนี้เสีย โดยสถานะล่าสุด ณ สิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ขาดส่งหนี้มาแล้วเกิน 3 เดือน หรือลูกหนี้ที่กู้เงินมาแล้วเกิน 1 ปี และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ต้นปี 65) เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 1 ครั้ง แต่ตอนนี้เริ่มส่งไม่ไหว หรือขาดส่งหนี้แล้ว แต่ไม่เกิน 30 วัน
ใครเริ่มไม่ไหว หรือต้องการแก้หนี้ ก็ให้มาสมัครลงทะเบียนเข้าโครงการเพื่อที่จะรับเงื่อนไขการปรับหนี้แบบพิเศษ คือ การลดค่างวดที่ผ่อนรายเดือนลง 3 ปี ปีแรกให้จ่ายแค่ 50% ปีที่ 2 ขยับขึ้นมาจ่าย 70% และปีที่ 3 ปีสุดท้าย จ่าย 90% ซึ่งเมื่อเฉลี่ย 3 ปี จะจ่ายเงินงวดเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ของวงเงินงวดเดิม
เช่น หากเคยจ่ายเดือนละ 10,000 บาท 3 ปี ค่าผ่อนส่งรวมกัน 360,000 บาท แต่เมื่ออยู่ในโครงการ 3 ปี จะผ่อนส่งที่ 252,000 บาท หรือลดลง 108,000 บาท ที่สำคัญ ผ่อนน้อยกว่าแต่ตัดต้นได้มากกว่า เพราะเงินทั้งก้อนที่ส่งเอาไปตัดเงินต้นทั้งหมด รัฐจะพักดอกเบี้ยให้
ที่ดีไปกว่านั้น หากส่งครบ 3 ปี ผ่อนตรงเวลาทุกเดือน ไม่กู้ใหม่ในช่วง 12 เดือนแรก ดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีนั้นจะหายวับไปให้ทันที เพราะรัฐกับสถาบันการเงินจะช่วยกันจ่ายแทนให้ในลักษณะ 50:50
โดยจากยอดคงค้างสินเชื่อทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ล่าสุดที่ 15 ล้านล้านบาท รัฐบาลมองว่า ลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการประมาณ 2.1 ล้านคน ยอดคงค้างสินเชื่อ 890,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ทั้งหมดจะตบเท้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่นั้น คาดว่าจะไม่ได้มาทั้งหมด สัก 60-70% ก็ถือว่าดี เพราะถึงแม้เงื่อนไขของโครงการจะดี แต่ลูกหนี้จำนวนหนึ่งก็ยังไม่มีความสามารถจะทำตามแผนใช้หนี้ใหม่นี้ได้ และบางส่วนก็จงใจเบี้ยวหนี้
ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งที่ “คนเป็นหนี้” ที่เหลือ 13 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้ดีที่พยายามหาเงินส่งหนี้มาตลอด แสดงความน้อยใจตัดพ้อ รัฐบาลฝากมาว่า “เราก็สู้ แต่คุณไม่ช่วย”
บางรายน่าเห็นใจมาก เพราะพยายามผ่อนส่งตรงทุกงวด ดอกเบี้ยก็จ่ายเต็มจำนวน และที่น่าสงสารคือ หนทางในการจ่ายหนี้ในระบบให้ได้เพื่อไม่ให้เครดิตเสีย คือ การออกไปกู้หนี้นอกระบบมาจ่ายคืนหนี้ในระบบ ทำให้เป็นหนี้สินอีนุงตุงนังมากกว่า “คนที่เบี้ยวหนี้ไม่จ่ายเป็นหนี้เสียด้วยซ้ำ” และเมื่อคิดจะปรับโครงสร้างหนี้ เงื่อนไขที่ได้รับก็ไม่ได้ช่วยให้ผ่อนส่งหนี้ได้ หรือช่วยลดภาระลงเหมือนโครงการคุณสู้ เราช่วย
ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะช่วยทุกคนที่เป็นหนี้ไม่ได้ แต่อยากให้หาช่องทาง หรือเปิดทางให้ “คนดี มีที่อยู่” บ้าง เช่น การขยายเงื่อนไขในโครงการนี้ให้กับหนี้ดีบางกลุ่มที่กำลังจะมีปัญหา หรือหากจะมีโครงการที่เป็นกำลังใจ ช่วยลดดอกเบี้ยให้กับหนี้ดีบ้าง ก็จะช่วยให้คนไทยส่วนใหญ่ชุ่มชื่นหัวใจมากขึ้น.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม