มรดกตกทอด ตั้งแต่วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เผยว่า ขณะนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาหนี้ครัวเรือน 16.3 ล้านล้านบาท ที่กำลังกัดกร่อนทิศทางเศรษฐกิจไทย แต่ปัญหา “หนี้ธุรกิจไทย” ก็มีสัญญาณน่าเป็นห่วงมากขึ้นเช่นกัน
โดยพบคุณภาพหนี้ธุรกิจมีทิศทางกลับมาถดถอยลง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่สถาบันการเงินทยอยปลดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน พบปัญหา “ธุรกิจยิ่งเล็ก หนี้เสียยิ่งเพิ่ม” และผู้ประกอบการหันไปพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากหนี้นอกระบบมากขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจโตช้า ค่าครองชีพแพง ต้นทุนธุรกิจเพิ่ม และแข่งขันกับทุนต่างชาติที่เข้ามาไม่ได้ แม้ยังไม่ได้ทำให้ธุรกิจจิ๋วต่างๆ ล้มหายตายจากไปทันที แต่ไม่ตายก็เหมือน “ตาย” และเริ่มเห็นการแพร่เชื้อลามจากธุรกิจขนาดจิ๋วไปขนาดเล็กและขนาดกลางมากขึ้นด้วย
สอดคล้องข้อมูลล่าสุดของ ttb analytics ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ที่รายงานว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเต็มไปด้วยบริษัทซอมบี้กว่า 9.5% และอยู่ในภาวะ Zombie Firm หรือกลุ่มบริษัทติดเชื้ออีกสูงกว่า 35.5% ที่ไม่นานจะกลายเป็นบริษัทซอมบี้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด
เจาะความหมายที่แท้จริงและสถานการณ์ของบริษัทซอมบี้ ต้องระบุว่านี่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยข่าวใหญ่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ก็คือ ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับบริษัทซอมบี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 11 ปี โดยมีบริษัทกว่า 10,000 แห่งจ่อยื่นล้มละลาย เซ่นพิษดอกเบี้ยพุ่ง กระทบลามทั้งตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
หรือย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ประเทศจีนก็เผชิญกับบริษัทซอมบี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาด กัดกร่อนภาคธุรกิจครั้งสำคัญ จนรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการกวาดล้างแก้ปัญหาบริษัทที่ดำเนินการขาดทุนและไม่มีประสิทธิภาพให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายมากขึ้น
เพราะหากประเทศใดมีสัดส่วนบริษัทจำพวกดังกล่าวเยอะ สิ่งที่ตามมาก็คือ ผลลบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเงินของภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการพักชำระหนี้เพื่อให้อยู่รอด
สำหรับ Zombie Firm หรือ Zombie Company ของประเทศไทย ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ก่อตัวสะสมมาสักระยะหนึ่งแล้ว และหากจะให้นิยามความหมายอย่างแท้จริง ก็คือ บริษัทที่ประสบปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากมีกำไรต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน
ขณะความหมายของกระทรวงพาณิชย์ ให้นิยามครอบคลุมคำว่า Zombie Firm ไปถึงกลุ่มบริษัทที่แม้มีกระแสเงินสดเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่กำไรที่ได้จากการดำเนินงานไม่เพียงพอจะชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้
แต่ทว่าบริษัทเหล่านี้ยังคงมีเงินสดและดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อื่น ๆ มาหมุนเวียนต่อไปได้ คล้าย “ไม่ตาย แต่ไม่โต” เปรียบอย่างเข้าใจง่ายๆ ไม่ต่างจากผีดิบเดินได้แต่ไร้วิญญาณนั่นเอง
ข้อมูลเสริมจาก SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังชี้ว่า Zombie Firm คือ บริษัทที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี
นอกจากนี้ บริษัทที่กลายเป็น Zombie Firm แล้ว ก็มีแนวโน้มหายยาก เป็นแล้วมักกลับไปเป็นอีก แต่ไม่ยอมออกจากตลาด จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
โดย Zombie Firm มักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีสินทรัพย์ขนาดเล็กที่สุด หรือในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานาน
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากการที่บริษัทซอมบี้ หรือผีดิบ นั้น เป็นบริษัทที่มี “หนี้สินล้นพ้นตัว" มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และกลไกการแข่งขันของตลาดนั้นๆ
เพราะนอกจากรัฐและสถาบันการเงินต้องคอยให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ควรล้มหายตายจากไปแล้ว เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อ ฉุดรั้งโอกาสบริษัทใหม่ๆ
บริษัทผีดิบยังจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินยังคงอยู่ อาจคอยตัดราคา ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการปรับตัวเองได้และมีผลิตภาพสูง กลับอยู่รอดยากและเข้ามาแข่งขันไม่ได้
ไม่ต่างอะไรกับผีดิบซอมบี้ในภาพยนตร์ที่คอยวิ่งไล่กัดกินเนื้อคนอื่นและล้มตายไปด้วย และลามไปในระดับประเทศ เพราะส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบขาดประสิทธิภาพ ผลิตภาพโดยรวมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยลงตามมาอีกด้วย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney