นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.67 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตาม ถือว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่โดดเด่น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ที่ยังเติบโตไม่โดดเด่นมากนัก แต่ความเชื่อมั่นน่าจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกปี 68 ที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ทำให้ดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถยนต์ใหม่ดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เป็นการส่งสัญญาณว่าช่วงปีใหม่ปี 68 และไตรมาสแรกปี 68 การใช้จ่ายประชาชนจะดีขึ้น
“แต่ช่วงไตรมาส 2 ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า สงครามการค้าที่แรงขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด รวมถึงสถานการณ์การเมืองในไทยด้วย ที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นช่วงเปราะบางทางการเมือง
สำหรับโครงการ “คุณสู้เราช่วย” ที่พักชำระดอกเบี้ย และลดเงินต้นในช่วง 3 ปี แต่ต้องไม่กู้หนี้เพิ่มภายใน 1 ปีนั้น จะเป็นประโยชน์กับทั้งลูกหนี้ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจไทย โดยในส่วนของลูกหนี้นั้น จะประหยัดเงินที่จะ นำไปใช้จ่ายดอกเบี้ย ทำให้มีเงินเหลือมาใช้จ่าย และเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้มากขึ้น อีกทั้ง
ยังทำให้เงินต้นลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปี ส่งผลให้ยอดหนี้คงค้างในระบบลดลงได้อย่างน้อยราวๆ 100,000 ล้านบาท และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง และอาจมาอยู่ที่ 87% ได้ในปีหน้า จากปัจจุบันที่ 89% และที่สำคัญเมื่อแก้ปัญหาหนี้เสียได้แล้ว ประชาชนและเอสเอ็มอีก็จะไม่ติดเครดิตบูโร ทำให้ขอสินเชื่อใหม่ได้
ส่วนสถาบันการเงิน หลังจากมีการกันสำรองไว้ในระดับสูงแล้ว ก็จะสามารถตีกลับมาเป็นการรับรู้รายได้ได้ และยังทำให้การเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ทำได้ดีขึ้น และน่าจะมีเม็ดเงินส่วนเหลือในการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากขึ้น อีกทั้งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ภาคธุรกิจมีการกู้เงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจไทยนั้น เมื่อผู้กู้คล่องตัวมากขึ้น ก็น่าจะประคองธุรกิจไม่ให้ล้ม รักษาการจ้างงานไว้ได้ ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ ค่ายรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะไม่ต้องยึดรถ และบ้านมาขายทอดตลาดในราคาต่ำ ไม่ทำให้ทรัพย์สินด้อยคุณภาพลงโดยไม่จำเป็น และ
เมื่อกลับมาปล่อยกู้ได้มากขึ้น ระบบเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และสุดท้ายเมื่อจีดีพีดีขึ้น หนี้คงค้างในระบบหรือหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลง “มาตรการพักชำระดอกเบี้ยและลดเงินต้น
น่าจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 80,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.5-0.7% และเมื่อรวมกับการแจกเงิน 10,000 ให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอีก 40,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรวม 40,000 ล้านบาท น่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราว 160,000-180,000 ล้านบาท และทำให้จีดีพีเพิ่มได้อีก 1.5% หากไม่มีความเสียหายจากสงครามการค้าที่คาดจะทำให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 160,000 ล้านบาท”
ด้านนางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 56.9 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 56.0 ในเดือน ต.ค.67 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ9 เดือน จากมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ ท่องเที่ยว ส่งออก ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 40.4 จาก 39.6 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 64.9 จาก 64.0 แสดงว่าผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่