นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ bbb+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ระดับมีเสถียรภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะดังนี้ โดยเอสแอนด์พี คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็น 2.8% ในปี 2567 และ 3.1% ในปี 2568
ทั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจะเติบโตเฉลี่ย 3.0% ในช่วงปี 2567 – 2570 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ย 3.3% ในช่วงปี 2568 – 2569 โดยมองว่ารัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งการร่วมลงทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการลงทุนอย่างต่อเนื่องดังกล่าวจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่าสำหรับหนี้ภาครัฐบาลสุทธิต่อจีดีพีนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในปี 2568 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท หรือดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตทำให้การบริโภคของภาคเอกชนเติบโต ส่วนภาคการเงินต่างประเทศยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.4% ในปี 2566 และคาดว่าตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลเฉลี่ย 2.3% จากการฟื้นตัวของภาคการบริการ และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีข้างหน้า โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 2567 ต่างชาติมาเที่ยวไทยกว่า 28.8 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจากมาตรการของรัฐบาลในการยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย
“สำหรับปัจจัยที่เอสแอนด์พีจะติดตามเพื่อพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน รายได้ต่อหัว และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ”