ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ค่าครองชีพ” ที่เพิ่มสูงขึ้น และ ความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจของจีน ประกอบกับ “ทุเรียน” ซึ่งมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ “ทุเรียน” เป็นผลไม้ ที่ชาวจีน ให้ความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา จีนนำเข้า “ทุเรียน” เพื่อบริโภคภายในประเทศมากถึง 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสด อยู่ที่ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 66% ส่งผลให้ “ทุเรียน” กลายเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดติดต่อกันหลายปี
เจาะส่วนแบ่งตลาด มี 4 ชาติหลัก ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสู่ประเทศจีน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ ภายใต้การแข่งขันที่น่าจับตามองมากขึ้น สำหรับ “ทุเรียนไทย” ที่ครองบัลลังก์แชมป์ส่งออก เริ่มสั่นคลอน จากการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น ของ “ทุเรียนเวียดนาม”
ข้อมูลรายงานของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู ประจำเดือน ธันวาคม 2567 เปิดสถานการณ์การนำเข้า “ทุเรียน” ของประเทศจีน ดังนี้
ทุเรียนไทย
หลังจากที่จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2546 ส่งผลให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลสถิติจากสำนักงานศุลกากรจีน ปรากฏว่า ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนปริมาณ 784,000 ตัน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 929,000 ตัน ในปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 3,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 4,570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
ขณะ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยปริมาณ 785,000 ตัน มูลค่า 3,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยราคานำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,928 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ฤดูกาลผลิตทุเรียนของไทยอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน และช่วงส่งออกสูงสุดไปยังจีนระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม
สำหรับทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก ได้แก่ หมอนทอง กระดุม พวงมาณี ชะนี และก้านยาว อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากทุเรียนเวียดนามส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนไทยลดลง
ทุเรียนเวียดนาม
เวียดนามเริ่มส่งออกทุเรียนไปจน เมื่อปี 2565 และปัจจุบัน ปริมาณการส่งออกทุเรียนเวียดนามมายังจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 เวียดนามส่งออกทุเรียนมายังจีนปริมาณ 493,000 ตัน มูลค่า 2,140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนทั้งหมด
ขณะในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามปริมาณ 702,000 ตัน มูลค่า 2,780 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยราคานำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,965 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
ซึ่งยังต่ำกว่าราคานำเข้าทุเรียนไทย ฤดูกาลผลิตทุเรียนของเวียดนามอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยผลผลิตสูงสุดในบริเวณตอนกลางของประเทศระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงนอกฤดูกาลทุเรียนของไทย สำหรับทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก ได้แก่ หมอนทอง และเปลือกสีเขียวพันธุ์ Ri6
ทุเรียนฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ เป็นชาติที่จีน เพิ่งอนุญาต ให้นำเข้าทุเรียน เมื่อ 7 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ยังครองส่วนแบ่งตลาดน้อย ตามข้อมูล ในปี 2566 ซึ่ง ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียนไปมาจีนปริมาณ 3,763 ตัน เท่านั้น
แต่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ฟิลิปปินส์ มีการส่งออก ทุเรียนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มาอยู่ที่ ปริมาณ 6,260 ตัน โดยทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก คือ ปูยัต (Puyat) มีฤดูกาลผลิตสองช่วง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ซึ่งสามารถชดเชยช่วงนอกฤดูกาลทุเรียนของไทยได้
ทุเรียนมาเลเซีย
โดยจีน อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากมาเลเซีย เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมานี้เอง ขณะในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบมาเลเซียส่งออกทุเรียนไปยังจีนปริมาณ 215 ตัน มูลค่า 3.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับ ฤดูกาลผลิตทุเรียนของมาเลเซียมีสองช่วง ได้แก่ เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก ประกอบด้วย มูซังคิง หนามดำ Udang Merah และ Sultan โดยมีฤดูกาลผลิตหลักสองช่วง ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งสามารถชดเชยช่วงนอกฤดูกาลทุเรียนของไทยได้เช่นกัน
ด้าน 10 มณฑล ซึ่งถือเป็นแหล่งนำเข้าทุเรียนสูงสุด ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง ,มณฑลยูนหนาน, เขตปกครองตนเองกวางสี ,มณฑลเจื้อเจียง ,มณฑลเหอเป่ย ,มณฑลเสฉวน ,มหานครเซี่ยงไฮ้ ,มณฑลหูเป่ย ,กรุงปักกิ่ง และ มณฑลเจียงซู
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า แม้ประเทศไทย เป็นประเทศแรกที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนไปยังจีน และเป็นคู่ค้าทุเรียนอันดับต้น ๆ เนื่องจากคุณภาพดี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทย ควรยกระดับการแปรรูปทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ไอศกรีมทุเรียน ท๊อปฟี่ทุเรียน คุกกี้ทุเรียน พิซซ่าทุเรียน เครื่องดื่มทุเรียน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมให้ความสำคัญกับ การพัฒนาอุปกรณ์การขนส่งแช่แข็งและระบบรักษาความสดสำหรับทุเรียนสด เพื่อลดต้นทุนการจำหน่ายและป้องกันการสูญเสีย รักษาส่วนแบ่งตลาดต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney