ได้ฟัง “นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พูดถึงสถานการณ์หนี้ของเอสเอ็มอีไทยแล้วถึงกับอึ้ง!!
เพราะเอสเอ็มอีไทยทั้งประเทศราว 3.2 ล้านรายนั้น มากกว่าครึ่งล้วนแต่มีหนี้สิน ทั้งหนี้ในระบบ ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆและหนี้นอกระบบ ที่กู้เงินจากสารพัดเจ้าหนี้ ซึ่งมีดอกเบี้ยมหาโหด
หนี้สินของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จนถึงขณะนี้และล่าสุด ณ ไตรมาส 3 ปี 67 เอสเอ็มอีไทย 33% ของทั้งหมด มีหนี้จากการกู้เงินในระบบ อีก 24% มีหนี้นอกระบบและมากถึง 43% มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่เอสเอ็มอีจะกู้หนี้นอกระบบมากขึ้น และกลุ่มที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบอยู่แล้วนั้น มีแนวโน้มที่หนี้จะไหลออกสู่นอกระบบมากขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ ระมัดระวังปล่อยกู้เป็นพิเศษ และเอสเอ็มอีส่วนใหญ่คุณสมบัติไม่ผ่านเงื่อนไขการปล่อยกู้ เช่น ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ไตรมาส 3 ปี 67 การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ติดลบ 2% เทียบช่วงเดียวกันของปี 66 ติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 53 ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อรายย่อยชะลอตัว โดยสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยติดลบ 5.5% และ 1.0% ตามลำดับ
แม้ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาหนี้ให้เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อยมาตลอดตั้งแต่หลังโควิด เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ฯลฯ เพื่อให้เดินหน้าธุรกิจต่อได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนหนัก
แล้วยังจะถูกซ้ำเติมด้วยสินค้าจีนราคาถูกไร้มาตรฐาน ที่แห่เข้ามาตีตลาดสินค้าเอสเอ็มอีไทย รวมถึงนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่จะเกิดผลกระทบกับไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไปอีก
แต่กระบวนการแก้ปัญหาของภาครัฐล่าช้ามาก แทบจะไม่ทันการณ์!! จึงเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ภาครัฐเร่งสะสางปัญหาหนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สุดของเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วนก่อนตายเกลี้ยง
พร้อมกันนั้น ต้องการให้ภาครัฐช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอีควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ การ Upskill-Reskill ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ
ที่สำคัญ ควรจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอีไทย” เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย รวมถึงนำเงินกองทุนมาปล่อยสินเชื่อด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
ข้อเรียกร้องเหล่านี้ สมาพันธ์ฯเรียกร้องไปยังหลายรัฐบาลแล้ว กลับไม่มีใครสนใจ เป็น “เสียงในสายลม” ที่ไม่มีใครได้ยิน แต่กำลังรอพิสูจน์ความจริงใจ และวัดฝีมือแก้ปัญหาของรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร”!!
ฟันนี่เอส
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม