ปฏิรูปภาษีให้ยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปฏิรูปภาษีให้ยั่งยืน

Date Time: 11 ธ.ค. 2567 05:38 น.

Summary

  • แผนปฏิรูปภาษีเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 15% ... ถูก นายกฯ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ตอกตะปูปิดฝาโลงไม่ให้ลุกขึ้นมาหลอกหลอนผู้คน

Latest

กนง.คงดอกเบี้ย 2.25% เตรียมรับความเสี่ยงปี 68 ชี้เศรษฐกิจไม่แน่นอนสูง เสี่ยงโตต่ำกว่าเป้า

แผนปฏิรูปภาษีเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 15% ...

ถูก นายกฯ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ตอกตะปูปิดฝาโลงไม่ให้ลุกขึ้นมาหลอกหลอนผู้คน...เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว เนื่องเพราะเป็นประเด็นที่ไม่ได้ไถ่ถามรัฐบาลมาก่อน และไม่ได้แพลมให้ประชาชีโดยรวมกว่า 66 ล้านคนของประเทศไทยรับรู้มาก่อนด้วยเช่นกัน

จึงมีผลทำให้คนทั้งประเทศตกอกตกใจกันหมดว่า นี่มันเรื่องอะไรกันถึงจะมาขึ้นภาษีสวนทางกับความคิด และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในยามยากเช่นนี้

ถึงจะอาศัยอำนาจรองนายกฯ และ รมว.คลัง ประกาศความเก๋าว่า ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลังเร่งพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลแล้วก็เหอะ

แต่ถ้าความคิดที่ว่านี้ยังไม่ได้ถูกขัดเกลา กล่าวคือยังมีความหยาบอยู่มาก ด้วยไม่ได้มองความรู้สึกของประชาชนคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้คนในกลุ่มเปราะบางคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวและไม่ศึกษาประสบการณ์ที่ผ่านมาเลยว่า ประเด็นเรื่องการถอนขนห่านนั้น...

เป็นเรื่อง Sensitive ขนาดไหนต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลโดยเฉพาะกับตัวนายกรัฐมนตรี

จริงอยู่ที่ว่าการปฏิรูประบบการจัดภาษีมีความจำเป็นต้องทำเพราะโครงสร้างเดิมล้าสมัย ไม่เอื้ออำนวยต่อระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ และการลงทุนที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่กฎหมายภาษีเดิมๆไม่ได้บัญญัติไว้

แต่การไปเที่ยวโชว์ความรู้ที่ไม่รู้ และประสบการณ์ที่ไม่เคยมีบนเวทีสัมมนาขนาดใหญ่ที่มีผู้ชมผู้ฟังจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดความช็อกในหมู่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังทำให้กระทรวงการคลัง ซึ่งรับบทเป็น “นายแบก” ต้องรับผิดชอบรายจ่ายที่มีมากกว่ารายรับ ทำงานได้ยากขึ้น

ในขณะที่ GDP เติบโตในอัตราต่ำต่อเนื่องมานานกว่าสิบปีทำให้หนี้สินประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ผู้คนจำนวนมากอยู่ในสภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง

มีผลให้รัฐบาลต้องคลอดมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก ในเวลาเดียวกันก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายกระทั่งต้องขยายยอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจาก 60% ของ GDP เป็น 70% GDP เพราะรายรับที่จัดเก็บได้ ไม่พอกับรายจ่ายที่ต้องใช้เพื่อการช่วยเหลือประชาชน ผลที่สุดก็ต้องทำงบประมาณขาดดุลกันทุกปี

ถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไป โดยเฉพาะปล่อยให้หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวไปจนเกือบจะ 100% ของ GDP ที่สุดประเทศจะอยู่ไม่ได้ จะเกิดฟองสบู่แตกในภาคการธนาคารอีกครั้ง

และครั้งใหม่นี้อาจจะสาหัสหนักกว่าต้มยำกุ้งภาคแรกเหมือนๆกับที่แบงก์ชาติเคยส่งสัญญาณเตือนออกมา

ถึงเวลานี้คนที่อาจจะพอช่วยเหลือกระทรวงการคลังให้คิดแบบเบ็ดเสร็จ ม้วนเดียวจบ อาจจะต้องเป็น อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบภาษีมากมาย

ตั้งแต่ Negative Income Tax, Capital gain, ภาษีมรดก และอื่นๆที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริงๆ.

มิสไฟน์

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ