แม้มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2025 ธนาคารกลางของชาติเศรษฐกิจหลักๆ ต่างๆ จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ช่วยส่งผลให้ “เศรษฐกิจโลก” มีทิศทางสดใส และหลายประเทศรอดพ้นจากภาวะถดถอย
แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง ภาพออกมาค่อนไปทางลบ จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางยืดเยื้อและมาตรการกีดกันระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในหลายมิติ โดยมีตัวเร่งคือการกลับขึ้นมาผงาดของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อีกครั้ง
ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยออกรายงานเตือนถึงความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจอาจต้องเผชิญในช่วงปี 2025 โดยอ้างอิงข้อมูลการวิเคราะห์ของ Control Risks สำนักที่ปรึกษาธุรกิจด้านการบริหารความเสี่ยงชื่อดัง ว่าภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้เล่นหลัก นี่คือ 5 ความเสี่ยงที่ต้องติดตามและเตรียมพร้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว
1. โดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งเปลี่ยน “ระเบียบโลก”
ในปี 2025 บทบาทของสหรัฐฯ บนเวทีโลกจะเปลี่ยนแปลงไปและมีความไม่แน่นอนยิ่งขึ้น โดยการเข้ามาของรัฐบาลทรัมป์มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบทั้งด้านนโยบายภายในและต่างประเทศ ทรัมป์มุ่งเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกเพื่อตอบโต้คู่แข่งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนการตั้งเงื่อนไขต่อพันธมิตรและประเทศคู่ค้า
เช่น แผนที่จะเก็บภาษีศุลกากรแบบปูพรมกับสินค้านำเข้าจากแหล่งผลิตทั่วโลกถึง 10-20% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นและลดการพึ่งพาต่างประเทศลง และเน้นเก็บจากจีนเพิ่มอีก 60% ด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกประเทศก็ถูกกระทบเสมอกัน
ประเด็นดังกล่าว แม้หลายคนอาจมองว่าความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ไกลตัวจนละเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ไกลตัวทุกๆ คนอย่างที่คิด เพราะความไม่แน่นอนในด้านการค้าระหว่างประเทศและระบบห่วงโซ่อุปทาน ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและท้าทายในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น
2. เส้นสีแดงภูมิรัฐศาสตร์โลกหลายทวีป
ในปี 2025 เส้นสีแดงหรือขีดจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลกได้ ภาคธุรกิจควรจับตาความตึงเครียดใน 3 ภูมิภาคที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยในตะวันออกกลาง อิสราเอลและอิหร่าน (รวมถึงพันธมิตรของอิหร่าน) ขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกทีจนอาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือการยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งจะสร้างความผันผวนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจพลังงานและเสถียรภาพของโลก
สำหรับยุโรป สงครามในยูเครนทำให้มีการข้ามเส้นสีแดงบ่อยครั้งจนอาจชะล่าใจ แล้วมีการข้ามเส้นถึงขั้นที่ทำให้ต้องมีการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นในที่สุดได้ โดยหากมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ก็จะส่งผลต่อความปลอดภัยของภาคธุรกิจในภูมิภาคอย่างแน่นอน
ส่วนในเอเชีย แม้จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ความตึงเครียดที่บ่อยครั้งขึ้นในช่องแคบไต้หวัน พรมแดนเกาหลี และทะเลจีนใต้ และเข้าใกล้เส้นแดงที่มองไม่เห็นทำให้ยากที่จะคาดเดา
“ใจความสำคัญ เช่น สงครามในตะวันออกกลางจะส่งผลให้การขนส่งทางเรือวิกฤติขึ้น อาจส่งผลร้ายทั้งในเรื่องการกำหนดราคาต้นทาง/ปลายทาง และความล่าช้าของการส่งสินค้าที่ชาวนาในไทยเป็นต้นทางในการผลิต ผลกระทบมากน้อยก็แตกต่างลดหลั่นกันไป แต่ผลกระทบก็กระจายไปทั่วถึงแทบทุกฝ่ายได้เช่นกัน”
3. สงครามการค้าระดับโลก
โดยมีพลังขับเคลื่อนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของจีน ความแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก หลังจากจีน จีนเตรียมพร้อมรับมือความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ อาจใช้นโยบายที่รุนแรงขึ้น เช่น ควบคุมการส่งออก ภาษีและการคว่ำบาตร ซึ่งมีแนวโน้มขยายผลกระทบไปยังประเทศที่สามและบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะยุโรป
นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2025 จะมุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก
นโยบายอุตสาหกรรมระดับโลก นานาประเทศต่างเพิ่มบทบาทของภาครัฐแทรกแซงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ตั้งแต่เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงบริการด้านระบบดิจิทัล
4. การเมืองที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น
เช่น การกลับมารวมตัวกันใหม่ของกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามที่ได้รับแรงกระตุ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การโจมตีที่สนับสนุนโดยรัฐซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของการเมืองแบบเผด็จการ การฟื้นตัวของกลุ่มการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ใช้ความไม่พอใจทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นเชื้อไฟ และความรุนแรงโดยคนทั่วๆ ไป ที่ได้รับอิทธิพลจากการปั่นหัว ยั่วยุล่อหลอกผ่านสื่อออนไลน์ที่ขยายตัวมากขึ้น
ซึ่งความรุนแรงทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม ทั้งอาจทำลายเสถียรภาพทางการเมือง เปิดช่องให้มีการก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบ สังคมแตกแยกและทำลายบรรยากาศการลงทุน และหากภาครัฐบาลก่อความรุนแรงทางการเมืองกับประเทศคู่แข่งจนอาจขยายไปสู่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กว้างขึ้น
5. การกระจุกตัวของระบบดิจิทัล
การรวมบริการและเทคโนโลยีสำคัญไว้ในมือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ส่งผลได้รุนแรงขึ้น
เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนทุกผู้คนทุกกิจการต่างพากันไว้ใจฝากข้อมูลสำคัญๆ ไว้บนคลาวด์ของผู้ให้บริการระดับโลกกันมากขึ้น และหลายๆ ท่านอาจเลิกซื้อซอฟต์แวร์สำหรับสำนักงานที่ใช้ทำงานแล้วหันไปใช้ระบบออนไลน์กันบ้างแล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มากทีเดียว
แต่มีการเตือนออกมาว่า โลกอาจเสี่ยงที่จะถูกการโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่เปราะบาง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของภัยคุกคาม ขณะที่การตอบสนองของรัฐบาลของชาติต่างๆ อาจยังไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมความเสี่ยงเชิงระบบนี้ได้อย่างเพียงพอ ผลกระทบที่ตามมาคือองค์กรจะต้องเผชิญกับการหยุดชะงักของระบบดิจิทัลในระดับโลก
ซึ่งท้ายที่สุด ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มนำเข้า-ส่งออก ต้อง ระมัดระวัง เตรียมการให้พร้อม สำหรับวันที่การเชื่อมต่อไปถึงข้อมูลสำคัญๆ และโปรแกรมออนไลน์เหล่านั้นสะดุดไว้ด้วย เพื่อที่จะไม่กระทบกับแผนดำเนินธุรกิจของตัวเอง
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney