ชูโมเดล "ชางงี" ยกระดับ "สุวรรณภูมิ" ติด 1 ใน 20 สนามบินโลกใน 5 ปี รับ 200 ล้านคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชูโมเดล "ชางงี" ยกระดับ "สุวรรณภูมิ" ติด 1 ใน 20 สนามบินโลกใน 5 ปี รับ 200 ล้านคน

Date Time: 14 พ.ย. 2567 09:01 น.

Summary

  • “คมนาคม-ทอท.” หารือ “สนามบินชางงี “ ยึดโมเดลต้นแบบสนามบินสีเขียว-พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ยกห้างมาไว้กลางสนามบิน ปั้นไทยขึ้นฮับผลิต SAF รับตลาดการบินโลก ทอท.เปิดแผนเชิงรุก ตั้งเป้าปีนี้ดันสนามบินสุวรรณภูมิติด 1 ใน 50 สนามบินโลก อีก 5 ปี ติดท็อป 1 ใน 20 รองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน

Latest

บิ๊กแบรนด์อสังหาฯ ท็อปฟอร์ม สวนตลาด โกยรายได้แสนล้าน 9 เดือน กำไรพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยพลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. พร้อมคณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อเยี่ยมชมท่าอากาศยานชางงี พร้อมกับเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่าง Mr.Yam Kum Weng ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้บริหารระดับสูงของ Changi Airport Group (CAG) ซึ่งภายหลังการหารือร่วมกันนั้น ทำให้เห็นภาพรวมของการ พัฒนาสนามบินชางงีที่สามารถบริหารจัดการการให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกสนามบิน และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งในรูปแบบสินค้าปลอดอากร และห้างสรรพสินค้าแบบมิกซ์ยูสในบริเวณ สนามบินควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใน 5 ปีดัน “สุวรรณภูมิ” ติด 1 ใน 20 สนามบินโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม และการให้บริการที่มีความเชื่อมโยงสะดวกรวดเร็ว ทั้งในพื้นที่การบิน (Airside) และภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมได้วางเป้าหมายให้ ทอท. พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรก ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี โดยจะเร่งดำเนินการทั้งหมด 3 ระยะ โดยในระยะเร่งด่วนนั้น ได้สั่งการให้ดูแลเรื่องความสะอาด แก้ปัญหาจุดที่เป็นคอขวด เพิ่มความสะดวกสบายควบคู่ไปกับการลดระยะเวลารอคอยของผู้โดยสาร

ที่ผ่านมา ทอท.ได้ยกระดับคุณภาพการ บริการและเพิ่มความรวดเร็วในหลากหลายด้าน อาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสารตั้งแต่จุดตรวจคนเข้าเมือง ระบบรับกระเป๋า ไปจนถึงการเปิดใช้ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) รวมถึงการนำระบบไบโอเมตริกพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (biometric) มาใช้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร

ขณะที่ระยะกลาง จะเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสนามบินหลักของประเทศ และระยะยาว จะมุ่งเน้นการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ รวมถึงเดินหน้าในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เพิ่มอาคารผู้โดยสาร หรือขยายรันเวย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้อยู่ในแผนพัฒนาของ ทอท.อยู่แล้ว นอกจากนั้นจะเร่งผลักดันอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนต่อไป

ขยายสนามบินรับผู้โดยสาร 200 ล้าน

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.ได้เตรียมแผนพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบิน โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้ต้องติด 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และภายใน 5 ปี สนามบินในเขตกรุงเทพฯต้องมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี และไปสู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิมีแผนจะขยายโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 15 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่หรือสร้างห้างสรรพสินค้าใกล้อาคารผู้โดยสาร เมื่อนำมารวมกับขีดความสามารถในปัจจุบันจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ขณะที่สนามบินดอนเมืองอยู่ระหว่างแผนพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี

นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังได้มอบนโยบายให้ ทอท.พัฒนาสนามบินเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคและติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี ปัจจุบันได้ติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) จำนวน 250 เครื่อง ติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) จำนวน 40 จุด ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 จุด และจะเพิ่มอีก 120 จุด ในอนาคต โดยมีเป้าหมายจะเปิดใช้ระบบ Autogate ทั้งหมดสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ เหมือนกับสนามบินชางงีที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ปัจจุบัน ระบบดังกล่าวช่วยลดระยะเวลารอคอยผู้โดยสารขาออกให้เหลือเพียง 2 นาทีต่อคน จากเดิมที่ 30-40 นาทีต่อคน อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้เตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา หากศึกษาแล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในช่วง ก.พ.68

ปรับภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง-สีเขียว

นายกีรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้เตรียมเปิดให้บริการพื้นที่พักผ่อนใหม่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอยและ Co-working Space ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.67 รวมถึงสนามเด็กเล่นมีกำหนดแล้วเสร็จช่วง ก.พ.68 ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับสนามบินชางงีที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นอันดับต้นๆของโลกแล้ว

สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินสีเขียว ขณะนี้ได้หารือถึงแผนพัฒนาสนามบินสีเขียว (Green Airport) ร่วมกับสนามบินชางงี ซึ่งมีแผนจะร่วมมือกันในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับทางการบินยุโรปที่กำหนดให้ท่าอากาศยานทั่วโลก ต้องมีเชื้อเพลิง SAF ให้บริการเติมอากาศยานภายใน 3 ปี จึงเป็นโอกาสที่ดีของเอเชียและประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง SAF

นอกจากนี้ยังได้หารือกันถึงเรื่องแผนการใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในสนามบิน ซึ่ง ทอท.ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี จะลดการใช้พลังงานช่วงกลางวันเป็นศูนย์ (Day time energy) โดยปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับสนามบินชางงีซึ่งอยู่ที่ 35 เมกะวัตต์

นายกีรติกล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์การ Prix Versailles ได้ร่วมกับ UNESCO จัดอันดับให้อาคาร SAT-1 ของสนามบินสุวรรณภูมิเป็น 1 ใน 6 สนามบินที่มีความงดงามที่สุดในโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ได้รับการจัดอันดับด้านรางวัลสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์การออกแบบและเรื่องสุนทรียศาสตร์ที่สวยที่สุดของโลกจากยูเนสโก ซึ่งผลการจัดอันดับอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 2 ธ.ค.67 นี้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ