"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

Date Time: 13 พ.ย. 2567 10:14 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • "สถิตย์" มั่นใจ พรบ.ธปท.2551 ปกป้องความเป็นอิสระแบงก์ชาติ ยืนยันบอร์ดไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ เผย ที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งส่วนตัว ไม่ขัดคุณสมบัติ จ่อส่งชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ถึง รมว.คลัง 19 พ.ย.นี้

Latest


เสร็จสิ้นกระบวนการคัดเลือกแล้ว สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหานำโดย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเลือกกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และประธานที่ปรึกษาอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แทนที่ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการและอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่กังวลว่าการมีตัวแทนจากฝั่งการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาล อาจทำให้เกิดการแทรกแซงการดำเนินงานของแบงก์ชาติที่วางตัวเป็นอิสระได้

ทั้งนี้ กิตติรัตน์ ถือเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนที่ 5 นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 แบงก์ชาติมีประธานคณะกรรมการฯ มาแล้ว 4 คน ประกอบด้วย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ดร.วีรพงษ์ รามางกูร, อำพน กิตติอำพน และปรเมธี วิมลศิริ ตามลำดับ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา สถิตย์ ได้อัปเดตความคืบหน้า และตอบประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ในงาน ECONMASS EP1 คุยประเด็นร้อน เก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ สำคัญไฉน ณ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

โดยหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนเสียงลับแล้ว ตอนนี้ประธานกรรมการฯ อยู่ระหว่างการรอการอนุมัติหนังสือจากที่ประชุม แล้วส่งชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะได้รับหนังสือในวันที่ 19 พ.ย.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจะถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการอย่างเป็นทางการ ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถพิจารณาแต่งตั้งได้เลย โดยจะเสนอชื่อให้ ครม.รับทราบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง

สำหรับประเด็นความกังวลว่า การมีประธานบอร์ดแบงก์ชาติเป็นบุคคลที่มาจากฝ่ายรัฐบาล เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอิสระในการดำเนินงานของแบงก์ชาตินั้น สถิตย์ ชี้แจงว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งจะกลายเป็นคนของแบงก์ชาติทันที โดยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 6 ข้อ และเมื่อพิจารณาบทบาทตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 (พรบ.ธปท. 2551) พบว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติและคณะกรรมการ ไม่มีอำนาจในการแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงิน หรือปลดผู้ว่าแบงก์ชาติโดยตรง ทั้งนี้ พรบ.ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมา การปลดผู้ว่าแบงก์ชาติทำได้ยากขึ้น เนื่องจากการจะเสนอเรื่องปลดไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติจะต้องกระทำความผิด 2 เรื่อง

1. พฤติกรรมชั่วอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่
2. ปฏิบัติหน้าที่เสียหายอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในหน้าที่ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องระบุเหตุผลประกอบอย่างชัดเจนว่ามีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร หย่อนความสามารถตรงไหน

ที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ขัดคุณสมบัติประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

สำหรับประเด็นข้อสงสัยถึงเกณฑ์การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติว่ามีรายละเอียดอย่างไร หลังจากหารือร่วมกันคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นตรงกันให้คัดเลือกโดยยึดมั่นใน 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่

1.ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ประกอบด้วย
เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

  • เป็นบุคคลล้มละลาย
  • ต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุด
  • เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง/พรรคการเมือง
  • มีตำแหน่งในบริษัทภายใต้การกำกับ ธปท.

2. มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยมีความรู้ความสามารถอันเป็นประโยชน์ต่อการประกอบภารกิจธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับกรณีมีหนึ่งในแคนดิเดต เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ โดยยังพ้นตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี ว่าเป็นการขัดคุณสมบัติหรือไม่นั้น สถิตย์ กล่าวว่า “ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่ปรึกษาของนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งส่วนตัว ซึ่งมิได้เป็นคุณสมบัติต้องห้าม เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”

ทั้งนี้ มีแคนดิเดตประธานบอร์ดแบงก์ชาติหลายท่าน ที่เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ แต่ล้วนลาออกจากตำแหน่งมามากกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งมิเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามเกณฑ์การคัดเลือก

ปิดฉากภารกิจล้วงทุนสำรอง เอื้อผลประโยชน์รัฐ

ด้านความกังวลเรื่องการใช้อำนาจของบอร์ดแบงก์ชาติ แก้กฎหมายเพื่อนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ภาครัฐ โดยปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าเกณฑ์ที่ 2.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถรองรับการนำเข้าได้นานถึง 8 เดือน

เมื่อพิจารณาอำนาจตาม พรบ.ธปท. 2551 พบว่า คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีอำนาจบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศโดยตรง แต่มีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ ซึ่งต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อทุนสำรอง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีการประกาศใช้นานแล้ว เพราะฉะนั้นคณะกรรมการฯ ชุดใหม่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ