รัฐบาลยันยังไม่เห็นชื่อ "กิตติรัตน์" เป็นประธานบอร์ด ธปท."พิชัย“ เชื่อสามารถทำงานจูนกันได้ คลัง-ธปท.ไม่ได้สู้กัน ขณะที่ “จุลพันธ์” ยันทุกอย่างโปร่งใส ไม่เคยเข้าไปแทรกแซง ด้าน “สถิตย์” ยันไม่มีใบสั่งการเมือง ขณะที่กิตติรัตน์โพสต์ขอบคุณเสียงหนุน พร้อมรับเสียงติง ชี้เป็นการเตือนให้คิดดีทำดี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการคัดเลือกประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังหรือไม่ ทราบตามข่าวเหมือนทุกคน รวมถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับมติรายชื่อดังกล่าว ขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาคงแจ้งมาที่ตน ส่วนรายชื่อจะเป็นไปตามข่าวหรือไม่นั่น คิดว่าคณะกรรมการสรรหาคงไม่บอกใคร ตนก็เห็นตามข่าวเท่านั้น ก็รอตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น และไม่ว่าจะเป็นใครก็เหมือนกัน เพราะหน้าที่ถูกเขียนชัดเจน ว่า ประธานบอร์ดและคณะกรรมการแบงก์ชาติต้องทำหน้าที่อย่างไร ของเดิมก็แบ่งหน้าที่ไว้ชัดเจน ว่า คณะกรรมการชุดใหญ่ดูแลอะไร และ 4 ชุดที่เหลือมีหน้าที่อะไรทุกอย่างชัดเจนและมีความเป็นอิสระ
“หากเป็นนายกิตติรัตน์เริ่มทำงานในตำแหน่งนี้ก็ต้องทำหน้าที่ให้กับ ธปท.พร้อมยืนยันว่าใครทำหน้าที่ไหน ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ที่นั่น ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบ ส่วนรัฐบาลก็คือตนเอง ก็ทำงานง่ายอยู่แล้ว และไม่มีปัญหาเพราะเชื่อว่าในความเป็นประเทศ รัฐบาลดูเรื่องการคลัง และแบ่งหน้าที่เรื่องการเงินในภาพใหญ่ให้ ธปท.ดู และเมื่อดูแล้วก็พยายามปรับจูนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ฉะนั้น หากมีการพูดคุยกันบ่อยขึ้น มันก็จะจูนเข้าหากัน”
เมื่อถามว่าหากเป็นชื่อนายกิตติรัตน์ จะถือว่าเป็นแต้มต่อหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เราไม่ได้สู้กัน แต่เราทำงานร่วมกัน ส่วนจะมีผู้ไปร้อง รมว.คลัง หากเสนอชื่อนายกิตติรัตน์หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ทราบ และไม่ได้มีการพูดถึงคุณสมบัติ และคิดว่ากระทรวงก็ต้องทำหน้าที่ตามที่ควรทำ
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ารายชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติเป็นใคร เพราะคณะกรรมการสรรหายังไม่ได้เสนอรายละเอียดเข้ามายัง ครม. ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ามติเป็นยังไง เพราะว่าเป็นรายงานข่าว ถ้าคณะกรรมการสรรหาตัดสินใจอย่างไรก็มาว่ากัน ก็ต้องรอให้คณะกรรมการสรรหายื่นมาว่าทำตามกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นคงเอาเข้ามา ครม.
ส่วนกรณีที่มีกระแสต้านว่า มีคนของรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท.นั้น ตอนนี้ก็มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีทั้งกระแสต้านและข้อเรียกร้อง แต่ทั้งหมดรัฐบาลต้องมาพิจารณาให้เป็นไปตามความเป็นจริงและเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่อนุญาตให้ทำได้ ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อเท็จจริงต่างๆที่ควรจะเป็น
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไม่กลัวว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง เพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและมีกฎหมายรองรับ เราไม่รู้ว่าผลออกมาอย่างไร แต่สุดท้ายทั้งหมดเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ไม่ได้ไปแทรกแซงใดๆก็เชื่อว่าคนที่จะมาเป็นคงสามารถทำงานร่วมกับทาง ธปท.ได้อยู่แล้ว
วันเดียวกัน นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน ECONMASS TALK EP.1 หัวข้อ “เก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสำคัญไฉน” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อ ข่าวเศรษฐกิจ ว่า ยืนยันไม่ว่าใครจะมาเป็นประธาน ธปท.ก็ยังมีความเป็นอิสระ เนื่อง จาก พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข มีกำหนดชัดเจนว่า ผู้ว่าการ ธปท.ไม่สามารถถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ ยกเว้นประพฤติชั่วร้ายแรง หรือ ปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหาย ตลอดจนหย่อนสมรรถ ภาพในการทำงาน นอกจากนี้ ประธานบอร์ด ธปท.ยังไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการกำกับนโยบายระบบชำระเงิน และคณะกรรมการกำกับนโยบายสถาบันการเงินได้ จึงมองว่า ธปท.จึงยังคงมีความอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
ส่วนเรื่องทุนสำรองฯมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าคณะกรรมการ ธปท.มีหน้าที่ออกหลักเกณฑ์ แต่ไม่ได้มีอำนาจบริหารโดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ผู้บริหาร ธปท. และการออกหลักเกณฑ์มีมานานแล้ว ส่วนการแก้ไขหลักเกณฑ์ทุนสำรองฯสามารถทำได้ แต่การแก้ไขต้องมีเหตุผลและเปิดเผยสู่สาธารณชน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าทำ เพราะสุ่มเสี่ยงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้จึงคงไม่มีใครอยากแตะต้องเรื่องทุนสำรองฯ
“ยืนยันว่าการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.นั้น เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้อย่างชัดเจนและตนก็ไม่ได้รับใบสั่งจากการเมืองในการคัดเลือก กล่าวคือ ผู้ได้รับคัดเลือกต้องไม่มีคุณลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายและเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อประกอบภารกิจของ ธปท. ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกจะส่งหนังสือเสนอบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปยัง รมว.คลังในวันที่ 19 พ.ย.67 จากนั้น รมว.คลัง จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและส่งเรื่องทูลเกล้าฯแต่งตั้งในลำดับถัดไป”
จากกรณีดังกล่าวนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งได้รับคาดหมายจากคณะกรรมการคัดเลือกว่าจะได้เสนอให้เป็นประธานกรรมการ ธปท.ได้มีความเคลื่อนไหวโดยล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวว่า “ทุกเสียงสนับสนุนคือกำลังใจ และทุกเสียงที่ติติงคัดค้านคือการเตือนใจ ให้คิดดี พูดดี และปฏิบัติดี”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่