ไทย-อาเซียนยังเนื้อหอม ญี่ปุ่นลงทุนต่อเนื่อง ยกให้เป็น Strategic Partner

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย-อาเซียนยังเนื้อหอม ญี่ปุ่นลงทุนต่อเนื่อง ยกให้เป็น Strategic Partner

Date Time: 8 พ.ย. 2567 08:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จับมือญี่ปุ่นจัดงาน The 50th ASEAN-Japan Business Meeting พร้อมทำสมุดปกขาวเสนอรัฐบาลไทยร่วมพัฒนาและเสริมความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจและอนาคตที่ยั่งยืนในภูมิภาค พร้อมมองไทยและอาเซียนยังเนื้อหอม ญี่ปุ่นยกให้เป็น Strategic Partner ลงทุนต่อเนื่อง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ความสำคัญของการประชุมธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 50 หรือ ASEAN-Japan Business Meeting (AJBM) นั้นถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยผลลัพธ์จากประชุม AJBM จะมีสมุดปกขาว หรือ White Paper เพื่อให้ทั้งภาครัฐ และเอกชนใช้เป็นแนวทางให้กับอาเซียนและญี่ปุ่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองภูมิภาค

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา เรามีการพูดคุยกันเห็นสเกลการลงทุนจากทางญี่ปุ่นในไทยและอาเซียนอาจจะไม่ได้มากเท่ากับประเทศจีน หรือสหรัฐฯ เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากมองระยะกลางถึงระยะยาว เราจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเองยังมองเห็นไทยและอาเซียนเป็น Strategic Partner ที่สำคัญ

"เรามองว่าในอนาคตจะมีญี่ปุ่นจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ Innovation ของญี่ปุ่นก็มีความหลากหลาย และมีความก้าวหน้ามากพอสมควร นอกจากนี้ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ญี่ปุ่นมีความสนใจที่อยากลงทุนโดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ หรือ Value Added ในอนาคต นั่นหมายความว่าภาคแรงงานไทยและอาเซียนก็มีโอกาสมากขึ้น"

ทั้งนี้การประชุม AJBM ที่เกิดขึ้นจะตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนและญี่ปุ่นในการเติบโตอย่างยั่งยืนและความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการจัดทำสมุดปกขาวที่รวบรวมข้อสรุปและข้อเสนอสำคัญ ซึ่งจะถูกนำเสนอต่อรัฐบาลของประเทศสมาชิก AJBM ทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกอันเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งอาเซียนและญี่ปุ่น และเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุม ASEAN-Japan Business Meeting มีรายละเอียดดังนี้

1. ความมั่นคงทางอาหาร : เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง การประชุมได้สนับสนุนและมุ่งพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในอาเซียน ด้วยการกระจายแหล่งโปรตีน พัฒนาพืชทนต่อสภาพอากาศ และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ

2. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน : เนื่องจากการท่องเที่ยวมีผลกระทบในระดับภูมิภาค การสนทนามุ่งเน้นการส่งเสริมหลักการ ESG สนับสนุนการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงนโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกภาคส่วน

3. การขนส่ง : เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการขยายตัวของเมือง AJBM ได้ร่วมหารือเรื่องแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงระบบควบคุมการจราจรในกรุงเทพฯ ที่พัฒนาร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA

รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ประกอบด้วย

1. การส่งเสริมความร่วมมือข้ามภาคส่วน : AJBM เรียกร้องให้มีการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในอาเซียนและญี่ปุ่นเพื่อรวบรวมทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด

รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดคาร์บอน และเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือนี้จะเชื่อมโยงช่องว่างทางทรัพยากร ซึ่งจะส่งผลดีต่อความก้าวหน้าของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น

2. ความมั่นคงด้านอาหารผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี : การเกษตรที่ยั่งยืนในอาเซียนและญี่ปุ่นจะช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศและการขาดแคลนอาหารผ่านนวัตกรรม การใช้พืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศ การเกษตรแม่นยำ และพลังงานหมุนเวียน แนวคิดนี้ไม่เพียงเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร

แต่ยังลดของเสียและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จะทำให้อาเซียนและญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านการเกษตรที่ยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต การผสานการลงทุนในเกษตรแม่นยำและพลังงานหมุนเวียน และโครงการความมั่นคงด้านอาหารร่วมกัน จะสามารถเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตในอาเซียนได้

3. เสริมพลังซอฟต์พาวเวอร์ของอาเซียน-ญี่ปุ่นในฐานะสะพานทางการทูตและวัฒนธรรม : ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทักษะเพื่อให้อาเซียนมีบทบาทเป็นคนกลางในเอเชีย ช่วยสร้างความสมดุลด้านเศรษฐกิจและการทูตกับมหาอำนาจทั่วโลกและส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อสร้างภูมิภาคที่ยั่งยืนและมั่นคงโดยแนวทางนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและส่งเสริมพลังทางวัฒนธรรมของอาเซียน-ญี่ปุ่นผ่านประสบการณ์การเดินทางและท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์

นายยูจิ ฮิราโกะ ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เอเชียแห่ง Keizai Doyukai และที่ปรึกษาอาวุโสของ ANA Holdings Inc. กล่าวถึงว่า โครงการแพลตฟอร์มทรัพยากรมนุษย์อาเซียน-ญี่ปุ่นนั้นเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น โดยได้เปิดตัวครั้งแรกใน AJBM ครั้งที่ 48 ที่โตเกียว มีการพัฒนาโครงสร้างเพื่อการพัฒนา การใช้ประโยชน์ และการหมุนเวียนทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสองภูมิภาค โดย Keizai Doyukai ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นเข้าถึงแรงงานในอาเซียน

นายเซอิจิ อิมาอิ ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เอเชีย Keizai Doyukai และประธานคณะกรรมการมิตซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กล่าวว่า ความสำเร็จของการจัดงาน AJBM ปีนี้ ส่งผลดีต่อแนวทางการจัดงานในครั้งต่อไป ซึ่งทางญี่ปุ่นจะรักษามาตรฐานของการจัดงานและร่วมมือกับพันธมิตรในอาเซียนอย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน โดย Keizai Doyukai จะทำหน้าที่เตรียมข้อเสนอสำหรับการประชุมปีหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่งและก้าวหน้าต่อไป

นายยูกิ อิชิดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ YCP Holdings กล่าวว่า AJBM จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้นำธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายในการแลกเปลี่ยนมุมมอง สร้างพันธมิตร และวางรากฐานความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและญี่ปุ่น ผลการหารือจะถูกสรุปในสมุดปกขาวที่บรรจุข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยสมุดปกขาวนี้จะให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน การส่งเสริมพืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศ และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อปกป้องภาคเกษตร-อาหารของอาเซียนจากแรงกดดันทางสิ่งแวดล้อมและการเมือง

ในด้านการขนส่ง สมุดปกขาวจะเน้นการประสานงานข้ามภาคส่วนและการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อลดความแออัดในเมือง ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน และสนับสนุนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ สำหรับการท่องเที่ยว จะเน้นกลยุทธ์เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมจุดหมายทางเลือกและแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งช่วยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวอย่างยุติธรรมยิ่งขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ