รฟม.พาสื่อมวลชนบุกแดนมังกรถิ่นโรงงาน โมโนเรล “CRRC” ค่ายอัลสตอม ไขข้อสงสัยเหตุรถไฟฟ้าสายสีเหลืองล้อหลุด โรงงานพร้อมรื้อแบบเพิ่มติดนอตยึด 2 ชั้น เปลี่ยนใหม่ครบทุกขบวนในปี 68 ด้านบอร์ด รฟม.เห็นชอบต่อมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สายสีม่วงอีก 1 ปี
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ทาง รฟม.ได้พาคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรล บริษัท CRRC Puzhen Alstom Transportation System Co., Ltd. (บริษัท PATS) ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองอู๋หู (Wuhu) มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะเดียวกันโรงงานแห่งนี้ยังเป็นผู้ผลิตและประกอบรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีทองที่วิ่งให้บริการในประเทศไทย พร้อมพาสื่อมวลชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรล Wuhu Rail Transit
โดยการเดินทางมาครั้งนี้นอกจากจะเยี่ยมชมกระบวนการผลิตรถไฟฟ้าแล้ว ยังได้มาติดตามการออกแบบล้อโมโนเรลชุดใหม่ ซึ่งเป็นแบบล็อกสองชั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภายหลังจากเกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่ที่วิ่งอยู่บนถนนเมื่อต้นปี 67 เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการให้ผู้โดยสารในระยะยาว โดยทางบริษัทผู้ผลิตได้มีการออกแบบล้อประคองเพิ่มระบบล็อกกันหลุด และจะเปลี่ยนล้อรถใหม่ทั้งหมด ทั้งสายสีเหลือง และสายสีชมพู รวม 72 ขบวน ขบวนละ 48 ล้อ รวม 3,456 ล้อ พร้อมเตรียมแผนทดสอบ โดย รฟม.มีความมั่นใจว่าเมื่อได้รับการแก้ไขและปรับปรุงทางด้านเทคนิคเรียบร้อยจะมีความปลอดภัยและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วต่อไป
ด้านนายณัฐภัทริ์ อุณหคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ รฟม. กล่าวว่า ภายหลังจากเกิดเหตุ รฟม. และบริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รวมถึงบริษัทอัลสตอม ผู้ผลิตรถไฟฟ้า ได้ร่วมกันหาสาเหตุ และแก้ไขปัญหา ซึ่งเบื้องต้นบริษัท อัลสตอม แจ้งว่า สาเหตุมีข้อสันนิษฐานจากหลายปัจจัยที่มีความเป็นไปได้ จึงได้พยายามแก้ไขจุดที่ตรวจพบ และคาดการณ์ว่าจะเป็นสาเหตุของปัญหา อาทิ ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีของตลับลูกปืนภายในและดุมล้อ หรือชนิดของวัสดุเมื่อเกิดความร้อนทำให้วัสดุชิ้นส่วนเคลื่อนตัว จึงคาดว่าอาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ล้อหลุดร่วงลงมาได้
“อัลสตอมจึงได้แก้ปัญหาด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิแบบอิเล็กทรอนิกส์บนฝาครอบของชุดล้อประครอง (Guide wheel end cap) โดยจะเชื่อมต่อกับระบบควบคุมจัดการภายในขบวนรถ (TMS-Train Management System) เพื่อช่วยแจ้งเตือนหากมีอุณหภูมิภายในชุดล้อประคองเกินเกณฑ์ที่ตั้งค่าไว้ประมาณ 60 องศาเซลเซียส หากเกินจากนี้จะแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมฯ และหยุดเดินรถนำรถเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงเพื่อตรวจสอบทันที นอกจากนี้ จะติดนอตยึดล็อกเพิ่มอีก 6 จุด บนฝาครอบของชุดล้อประคอง เพื่อกันหลุดร่วงลงมา จากเดิมไม่มี ดังนั้น มั่นใจได้ว่าจะไม่มีล้อหลุดร่วงลงมาอีก”
นายณัฐภัทริ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อัลสตอมได้ขนส่งล้อชุดใหม่จากประเทศจีนมาถึงประเทศ ไทยสำหรับการติดตั้ง 2 ขบวนก่อน แบ่งเป็น สายสีเหลือง 1 ขบวน และสายสีชมพู 1 ขบวน โดยได้เริ่มติดตั้งในสายสีชมพูแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งสายสีเหลือง จากนั้นจะทดสอบการใช้งานจริงประมาณ 3 เดือนหรือประมาณกลางเดือน ม.ค.68 และจะถูกถอดล้ออกมาตรวจสอบด้านใน หากทุกอย่างไม่มีปัญหาใดก็จะเริ่มเปลี่ยนล้อใหม่ทุกคันประมาณเดือน ก.พ.68 และจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6-9 เดือนจึงจะแล้วเสร็จทั้งหมด
สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรล 1 ตู้จะมีชุดล้อประคองทั้งหมด 12 ล้อ โดย 1 ขบวน มี 4 ตู้ เท่ากับมีล้อประคอง 48 ล้อ ซึ่งสายสีชมพู มีจำนวน 42 ขบวน และสายสีเหลืองจำนวน 30 ขบวน รวมมีชุดล้อประคองทั้งหมด 3,456 ล้อ ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนเสร็จหมดภายในปี 68 นอกจากนั้น รฟม.ได้กำหนดมาตรการให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการตามแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยระยะสั้นผู้รับสัมปทานต้องปรับแผนดูแลบำรุงรักษา ตรวจสภาพอุปกรณ์ล้อทุกล้อทุกขบวนก่อนนำรถออกให้บริการ จากเดิมทุก 15 วัน เป็นทุก 1-2 วัน
ขณะที่นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวเสริมว่า นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 20 บาท ต่อไปอีก 1 ปี หลังมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย.67 นี้ โดยจะทำให้มาตรการขยายออกไปสิ้นสุดลงวันที่ 30 พ.ย.68 นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงระยะเวลา 1 ปี ที่รัฐบาลได้เริ่มมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 17.70% โดยปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 66,000 คนเที่ยวต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลของการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนั้นคาดว่าการต่อมาตรการในปีที่ 2 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 7% หรือไปอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 70,000 คนเที่ยวต่อวัน ในขณะที่ รฟม.มีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าจ้างเดินรถสายสีม่วงประมาณเดือนละเกือบ 300 ล้านบาท การลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาท มีผลทำให้รายได้ของสายสีม่วงลดลงด้วย แต่จำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้รายได้กลับมาคุ้มทุนใน 2-3 ปี หรือมีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 90,000 คนเที่ยวต่อวัน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม