ธปท.เสียงอ่อนยอมคลัง หลังหารือกรอบเงินเฟ้อดันเศรษฐกิจโต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.เสียงอ่อนยอมคลัง หลังหารือกรอบเงินเฟ้อดันเศรษฐกิจโต

Date Time: 31 ต.ค. 2567 08:05 น.

Summary

  • ธปท.เสียงอ่อนหลังคุยกรอบเงินเฟ้อกับคลัง โดยมองเป้าหมายตรงกันที่ 1-3% แต่เปิดโอกาสให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้นได้ ถ้ามาจากคนมีรายได้ดีขึ้น กำลังซื้อมากขึ้น พร้อมดูแลเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ค่าเงิน ประสานนโยบายการคลังมากขึ้น ยันต้องการให้เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง ไม่เกิดเงินฝืด แต่ยอมรับภาวะการเงินจะตึงตัวไปอีกระยะ

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

ธปท.เสียงอ่อนหลังคุยกรอบเงินเฟ้อกับคลัง โดยมองเป้าหมายตรงกันที่ 1-3% แต่เปิดโอกาสให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้นได้ ถ้ามาจากคนมีรายได้ดีขึ้น กำลังซื้อมากขึ้น พร้อมดูแลเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ค่าเงิน ประสานนโยบายการคลังมากขึ้น ยันต้องการให้เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง ไม่เกิดเงินฝืด แต่ยอมรับภาวะการเงินจะตึงตัวไปอีกระยะ

นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท.ในเรื่องการตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยในปี 2568 ว่า กรอบความคิดเห็นเบื้องต้น เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ยังคงเป็นเป้าหมายที่เห็นตรงกัน และสิ่งที่เห็นตรงกันอีกเรื่องคือการดูแลเงินเฟ้อก็เพื่อช่วยในเรื่องการกินอยู่ของประชาชน ดูแลค่าครองชีพ โดยอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมคือ เงินเฟ้อที่เอื้อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ และเพิ่มการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ต้องดูแลด้านนโยบายการเงินให้เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนั้น อีกเรื่องที่เห็นตรงกันคือไม่ต้องการให้เกิดภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะที่เกิดจากราคาสินค้าสูงขึ้น แต่รายได้ของคนไม่สูงขึ้น ไม่มีกำลังซื้อ

“ในภาพรวมทั้งคลัง และ ธปท.เห็นตรงกันว่า หากเงินเฟ้อจะสูงขึ้นบ้างจากนี้ แต่ไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ก็ไม่มีปัญหา หากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว คนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความต้องการซื้อมากขึ้น โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ได้สูงมากเกินไป และไม่สร้างความเสี่ยงในด้านเสถียรภาพของระบบการเงินมากขึ้น”

นายปิติกล่าวต่อว่า การดูแลนโยบายการเงินของ ธปท.จากนี้ยังคงเป็นไปตามปกติ ซึ่งคลังเข้าใจว่าเราไม่ได้ใช้ดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มนโยบายที่สอดคล้องกัน ทั้งการใช้ดอกเบี้ย การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ในช่วงที่มีความผันผวนมากๆ รวมทั้งการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินที่ตึงตัวในขณะนี้ โดยเท่าที่ได้หารือกันจะมีการประสานงานระหว่างนโยบายการเงินและการคลังให้มากขึ้น

“การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบที่ผ่านมา 0.25% นั้น เนื่องจากเรามองเห็นว่าสภาพการเงินในระบบตึงตัว สินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่อง การก่อหนี้ครัวเรือนปรับลดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และช่วยลดภาระการผ่อนส่งหนี้ของประชาชนได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ในปีนี้และปีหน้า เรายังจะเห็นสินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่อง และมีการก่อหนี้ลดลงไปอีกระยะ ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลง”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ