ไทย เสี่ยงถูกหั่นเรตติ้งปี 2050 จากภาวะโลกร้อน ดันต้นทุนดอกเบี้ยรัฐพุ่ง 2 หมื่นล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย เสี่ยงถูกหั่นเรตติ้งปี 2050 จากภาวะโลกร้อน ดันต้นทุนดอกเบี้ยรัฐพุ่ง 2 หมื่นล้าน

Date Time: 30 ต.ค. 2567 18:29 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ผลกระทบภาวะโลกรวน ไทยเสี่ยงถูกลดอันดับเครดิตในปี 2050 ดันภาระดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลพุ่ง 20,000 ล้านบาท แนะเร่งลงทุนวางแผนปรับตัวรับมือ ควบคู่การทำประกันภัย ลดความเสียหายจากภัยพิบัติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกรวน กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้หลายประเทศหันมาตื่นตัวลงทุนปรับตัวรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ยืดหยุ่น แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด การลงทุนเพื่อปรับตัวอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีการทำประกันภัยควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความสูญเสีย ทั้งนี้เพื่อให้การวางแผนรับมือประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน

สำหรับประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พบว่า ยังไม่ค่อยตื่นตัววางแผนปรับตัวรับความเสี่ยงโลกรวนเท่าที่ควร ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการที่ทีดีอาร์ไอ (TDRI) อัปเดตการเตรียมความพร้อมทางการเงินของไทยเพื่อปรับตัวในยุคโลกรวน ระหว่างการบรรยายในหัวข้อการบรรยาย การเงิน-ประกันภัย ปรับตัวอย่างไรรับโลกรวน ในงานสัมมนาประจำปี TDRI Annual Public Conference 2024 “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด”

ดร.ชาริกา กล่าวว่า หากไทยไม่เร่งปรับตัวรับภาวะโลกรวน จะส่งผลเสียต่อฐานะทางเศรษฐกิจ โดยอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเสี่ยงถูกลดเหลือ BBB- ในปี 2050 ในกรณีที่อุณหภูมิร้อนขึ้น 2.4 องศา ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น จากภาระดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้นเป็น 14,000-20,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคเอกชนที่บริษัทเสี่ยงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันไทยมีแผนปรับตัวรับความเสี่ยงโลกรวน แต่ไม่ได้มีการกำหนดกรอบงบประมาณที่ชัดเจน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย นอกจากจะมีแผนปรับตัวรับมือภัยพิบัติแล้ว ยังมีการระบุงบประมาณที่ชัดเจน โดยเวียดนามคาดการณ์ว่า จะต้องมีการใช้งบลงทุน 55,000-92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2021-2030 จากงบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่ 30%-50% จึงวางแผนขอเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเพิ่มเติม

เมื่อย้อนมาดูภาคเอกชนก็ยังขาดความตื่นตัวเช่นเดียวกับรัฐบาล สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดของ TDRI ระหว่างปี 2022-2023 พบว่า เอกชนส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนลงทุนปรับตัวรับภัยพิบัติ โดยมีบริษัทใน SET50 ไม่ถึงครึ่งที่วางแผนปรับตัวอย่างชัดเจน โดยบริษัท 20 แห่ง เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวแต่ไม่มีการประมาณต้นทุนที่ชัดเจน มีบริษัทเพียง 18 แห่ง ที่มีการคำนวณต้นทุนการปรับตัว ในขณะที่บริษัทอีก 12 แห่ง ไม่มีการวางแผนปรับตัวที่ชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจจาก PwC ที่พบว่า มีบริษัทเพียง 46% ที่มีการวางแผนปรับตัวผนวกเข้ากับการวางแผนการเงิน

สำหรับการลงทุนด้านประกันภัย ไทยมีประกันชดเชยครอบคลุมความเสียหายจากภัยพิบัติเพียงแค่ 1 ใน 4 ของมูลค่าความเสียหาย สะท้อนว่า ไทยมีประกันครอบคลุมความเสียหายจำกัด ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติขึ้น ไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติล่าช้า ใช้เวลานานมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ประกันภัยปรับตัวอย่างไรในยุคโลกรวน

นวัตกรรมประกันภัยที่ตอบโจทย์ในยุคโลกรวน ต้องมีราคาที่เข้าถึงได้ จ่ายไวทันต่อเหตุการณ์เพื่อลดความสูญเสีย โดยภาครัฐต้องให้งบประมาณอุดหนุนบริษัทเอกชนในการปรับรูปแบบการทำประกัน เช่น โครงการ FLOODRE ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันต่อเอกชน จัดตั้งโดยรัฐบาลในปี 2016 โดยมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบริษัทประกันที่มักจะไม่รับประกันน้ำท่วมในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ได้รับเงินอุดหนุนชั่วคราวจากภาษีประกันที่รัฐเก็บให้จนถึงปี 2039 ทำให้บริษัทสามารถคิดเบี้ยประกันในพื้นที่เสี่ยงถูกลง 50% เนื่องจากรับซื้อประกันต่อบริษัทประกันในราคาต่ำ นอกจากนี้เมื่อโครงการสิ้นสุดลงรัฐบาลยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วม และให้เงินอุดหนุนย้ายที่อยู่อาศัยสำหรับครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงสูง

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ