“พิชัย” ให้โจทย์ ธปท.ต้องหนุนรัฐบาล ดันเศรษฐกิจโต-ดูแลดอกเบี้ย-ค่าเงิน-แก้หนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“พิชัย” ให้โจทย์ ธปท.ต้องหนุนรัฐบาล ดันเศรษฐกิจโต-ดูแลดอกเบี้ย-ค่าเงิน-แก้หนี้

Date Time: 30 ต.ค. 2567 08:05 น.

Summary

  • คลัง–ธปท.ถกกรอบเงินเฟ้อปี68 อัตราเหมาะสมควรอยู่ที่ 2% ย้ำ ธปท.ควรวางเงื่อนสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลให้เติบโต ทั้งส่งเสริมการลงทุน การแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะเป็นหน้าที่ของ ธปท.รวมทั้งดูแลอัตราดอกเบี้ย–ค่าเงินให้เหมาะสม ด้าน “จุลพันธ์” ย้ำรัฐเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

Latest

ท่องเที่ยวไทยปี 67 รายได้ตามเป้า 3 ล้านล้าน ททท.จับมือวีซ่าดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยหลังการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 68 ว่า กระทรวงการคลังไม่ติดใจ ว่าจะมีการกำหนดเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อที่เท่าไร ไม่ว่าจะเป็น 1-3% หรือ 1.5-3.5% แต่มองว่าเงินเฟ้อที่ทำได้จริงในปี 68 ควรอยู่ในระดับเหมาะสมที่ 2% จากปีนี้ที่อยู่ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นอัตราต่ำไป นอกจากนี้ การวางเงื่อนไขให้ ธปท.จะต้องมีหน้าที่สนับสนุนนโยบายบริหารเศรษฐกิจรัฐบาลให้เติบโต ทั้งเรื่องส่งเสริมการลงทุน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ที่จริงเป็นหน้าที่ของ ธปท.อยู่แล้ว

“เรื่องกรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องปลายทาง แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะหากเศรษฐกิจโต เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาเอง ของจะราคาเพิ่มขึ้น แต่จะมีกำลังซื้อตามมาด้วย ดังนั้น บทบาทของภาคการเงิน และการคลังจะต้องเห็นไปในภาพเดียวกัน เพื่อให้เศรษฐกิจโต ซึ่งก่อนหน้ารัฐบาลเข้ามาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เคยโต 1.9-2% แต่ปีนี้คาดว่าจะโต 2.7% และมองว่าปีหน้าปกติจะโตถึง 3% ดังนั้น จึงมีข้อตกลงว่า ธปท.จะต้องทำแนวทางการสนับสนุนนโยบายเหล่านี้กลับมาเสนอ และจะมีการประชุมเล็กอีกครั้ง ก่อนสรุปเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อ และแนวทางต่างๆให้ ครม.พิจารณา ซึ่งมีเวลาเสนอได้ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้”

นายพิชัยกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ธปท.มีหน้าที่ ต้องดูเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมเหมือนกับหลายประเทศด้วย ซึ่งต้องดูควบคู่ไปกับการรักษาเงินเฟ้อ เพราะไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ควรทำให้มีอัตราแข่งขันได้ ซึ่งจะต้องมองควบคู่กัน รวมถึงต้องดูอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม ให้มีความสอดคล้องกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของ ธปท.จะต้องดูว่าจะปรับเมื่อไร อย่างไร แต่การขึ้นหรือลดดอกเบี้ยก็มีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนการลงทุนและการแก้ปัญหาหนี้สิน


“เรื่องหนี้สิน การลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยนมีความสัมพันธ์กัน โดยการแก้ปัญหาหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ สินเชื่ออุปโภคบริโภค รัฐบาลให้ความสำคัญจะต้องทำให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หากแก้ไขได้ จะทำให้ประชาชนกลับมามีกำลังซื้อ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนตามมา พอลงทุนมาก็จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนอื่น อาทิ การลงทุนจากต่างชาติจะมีการพัฒนาคน เพิ่มทักษะอาชีพใหม่ อย่างเกษตรชีวภาพ เซมิคอนดักเตอร์ การจัดที่ดิน พลังงานสะอาด ระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน”

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า “รัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปลายเดือน พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่เพื่อจัดประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะจัดให้มีโครงการคลังสัญจร โดยนำหน่วยงานในสังกัดร่วมลงพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่า มาตรการทางการคลังที่รัฐบาลเตรียมที่จะใส่ลงระบบเศรษฐกิจในช่วงต่อไปนั้น จะไม่กระทบต่อความเสี่ยงทางการคลัง เพราะเราจะใช้เม็ดเงินไม่มาก หรือระดับพันล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอของเอกชนในทุกมาตรการที่จะเสนอเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องดูความพร้อมของรัฐบาลในแต่ละช่วงจังหวะเวลาด้วย”

ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเตรียมพร้อมในการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ บางมาตรการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ในการประชุม หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงการคลัง ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ สำหรับผลการจัดเก็บรายได้งบประมาณ ปี 67 (1 ต.ค.66-30 ก.ย.67) หลังปิดหีบ คลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,000-5,000 ล้านบาท เนื่องจากการติดลบช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว มีผลต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ในการนำเข้าโดยตรง

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ