เครดิตไม่ดีอย่าเพิ่งหมดหวัง 34% ของคนมีหนี้เสียแล้วกลับตัว แบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เครดิตไม่ดีอย่าเพิ่งหมดหวัง 34% ของคนมีหนี้เสียแล้วกลับตัว แบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่

Date Time: 28 ต.ค. 2567 14:52 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ประวัติเครดิตไม่ดี อย่าปล่อยทิ้งไว้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผย 34% ของคนมีหนี้เสียแล้วกลับตัว ปรับโครงสร้างหนี้ แบงก์เลือกปล่อยสินเชื่อใหม่ มากกว่าผู้ไม่มีประวัติการกู้

Latest


หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการเข้าถึงสินเชื่อของคนไทย สะท้อนจากฐานข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) การเติบโตของสินเชื่อที่โตต่ำ 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่หนี้เสีย (NPL) ยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะแตะระดับ 1.2 ล้านล้านบาท สิ้นไตรมาสสาม ซ้ำร้ายคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าเมื่อเป็นหนี้เสียแล้วจะหมดโอกาสขอสินเชื่อ เนื่องจากติดเครดิตบูโร ซึ่งไม่มีอยู่จริง ทำให้จากเดิมที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าลูกหนี้ไม่ปรับโครงสร้าง ปรับปรุงประวัติเครดิตของตัวเอง ก็ยิ่งชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่

ทั้งนี้คนไทยมีความเข้าใจผิดๆ ว่าการมีประวัติชำระหนี้ล่าช้า หรือการเป็นหนี้เสียจะถูกขึ้นแบล็คลิสต์ หรือที่หลายคนเรียกว่า “ติดเครดิตบูโร” ในระบบของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) จนเป็นสาเหตุให้สถาบันการเงินปฏิเสธการขอสินเชื่อในอนาคต เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ขาดการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเครดิตที่ดี ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อตามศักยภาพและคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ในขณะเดียวกันก็สามารถให้ reward กลับคืนไปในรูปแบบของดอกเบี้ยที่ลดลง และพิจารณาเพิ่มวงเงินกู้ หากลูกหนี้มีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดี ดังนั้นยิ่งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ปรับพฤติกรรมการชำระหนี้ให้เครดิตกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไร ยิ่งเพิ่มโอกาสที่สถาบันจะปล่อยสินเชื่อใหม่เร็วขึ้นเท่านั้น

สอดคล้องกับข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่ปล่อยใหม่ในปี 2566 ทั้งสินเชื่อธุรกิจจากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และสินเชื่อรายย่อยจากข้อมูลเครดิตบูโร ที่พบว่าสถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกหนี้ที่กลับตัว สำหรับลูกหนี้รายย่อย สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่ลูกหนี้ที่กลับตัวมากกว่าผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยมีประวัติการกู้ในระบบ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) สินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ (รวม Nano-finance) และสินเชื่ออื่น ๆ โดยในภาพรวมจากกลุ่มลูกหนี้กลับตัวทั้งหมด มี 34% ที่ได้สินเชื่อใหม่ในปี 2566

ทั้งนี้สินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ลูกหนี้กลับตัวมีทั้งให้กับลูกหนี้ที่กลับตัวมาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ SFIs ในสินเชื่อเกษตรและสินเชื่ออื่นๆ และลูกหนี้ Non-bank เช่าซื้อ ส่วนธนาคารพาณิชย์และ Non-bank บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ให้สินเชื่อใหม่กับกลุ่มลูกหนี้ที่ออกจาก NPL มาแล้วมากกว่า 3 ปี ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้กู้รายใหม่ในสัดส่วนบัญชีที่มากกว่าลูกหนี้กลับตัว แต่ขนาดของสินเชื่อเฉลี่ยที่ให้แก่ลูกหนี้กลับตัวนั้น สูงกว่ากลุ่มผู้กู้รายใหม่ประมาณ 3 เท่า โดยกลุ่มลูกหนี้กลับตัวส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลากลับตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 32 เดือนจึงได้สินเชื่อใหม่ เมื่อพิจารณาแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่าสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเปิดใหม่มีสัดส่วนให้แก่กลุ่มลูกหนี้กลับตัวมากกว่าผู้กู้รายใหม่ซึ่งแทบจะไม่มีเลย

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ