จ่อเก็บ "ค่าธรรมเนียมรถติด"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จ่อเก็บ "ค่าธรรมเนียมรถติด"

Date Time: 24 ต.ค. 2567 06:01 น.

Summary

  • การจัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน ที่มีมูลค่าราวๆ 200,000 ล้านบาท กลับมาเป็นของรัฐ กองทุนดังกล่าวกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งของเงินทุนจะมีทั้งการระดมทุนจากนักลงทุนและประชาชนและอีกส่วนมาจากการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด” เหมือนหลายประเทศดำเนินการ

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

เพื่อให้นโยบาย "ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ทุกเส้นทางของรัฐบาลนี้ เกิดขึ้นจริงภายในเดือน ก.ย.68 ตามเป้าหมายของ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม จากปัจจุบันได้เริ่มแล้วในเส้นทางสายสีแดงและสีม่วง

ขณะนี้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง จึงร่วมกันศึกษาแนวทางสู่ความสำเร็จ และหนึ่งในหลายแนวทาง คือ การจัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน ที่มีมูลค่าราวๆ 200,000 ล้านบาท กลับมาเป็นของรัฐ

ทั้งนี้ เพื่อทำให้รัฐสามารถกำหนดค่าโดยสารได้ถูกลง และเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพส่วนหนึ่งให้ประชาชนได้

โดยเบื้องต้น กองทุนดังกล่าวกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งของเงินทุนจะมีทั้งการระดมทุนจากนักลงทุนและประชาชน โดยจะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน

และอีกส่วนมาจากการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด” เหมือนหลายประเทศดำเนินการ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่กองทุนแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหารถติด ช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วย

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นของ “สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” (สนข.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ “องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี” (GIZ)

พบว่า ถนนที่มีรถไฟฟ้าผ่าน มีปริมาณจราจรรวมกันวันละกว่า 700,000 คัน หากเก็บค่าธรรมเนียมคันละ 50 บาท รัฐจะมีรายได้วันละ 35 ล้านบาท หรือปีละ 12,000 ล้านบาท ไหลเข้าสู่กองทุน

โดยมี 6 เส้นทางที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ 1.ทางแยกเพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และทองหล่อ) ปริมาณจราจรวันละ 60,112 คัน 2.ทางแยกสีลม-นราธิวาส (ช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนสีลม) วันละ 62,453 คัน

3.ทางแยกสาทร-นราธิวาส (ช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนสาทร) วันละ 83,368 คัน 4.ทางแยกปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1) วันละ 62,453 คัน 5.ทางแยกราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) วันละ 56,235 คัน 6.ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารภ และถนนเพชรบุรี) วันละ 68,473 คัน

แต่ 6 เส้นทางนี้เป็นเพียงผลศึกษาเบื้องต้น ยังไม่ได้เก็บจริง ชาวกรุงฯอย่าเพิ่งตกใจ ในเดือน ธ.ค.67 สนข.จะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยจะเร่งสรุปผลกลางปี 68 เพื่อให้ทันกับเป้าหมายเดือน ก.ย.68

หากจะจัดเก็บจริง รัฐบาลคงต้องศึกษาผลดี ผลเสีย ให้ละเอียดรอบด้าน รับฟังความเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยทำอย่างโปร่งใสที่สุด เพื่อให้ไร้ที่ติ เพราะต้องมีผู้คัดค้านแน่นอน!!

ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ