ลูกหนี้รายย่อย-ธุรกิจ โล่งขึ้น ภาระหนี้ลดลง 1,300 ล้านบาท อานิสงส์แบงก์ “ลดดอกเบี้ย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ลูกหนี้รายย่อย-ธุรกิจ โล่งขึ้น ภาระหนี้ลดลง 1,300 ล้านบาท อานิสงส์แบงก์ “ลดดอกเบี้ย”

Date Time: 23 ต.ค. 2567 11:13 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย(KResearch) มองแบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ช่วยลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย-ภาคธุรกิจ 1,300 ล้านบาท ผ่อนค่างวดเท่าเดิม แต่เงินต้นลด ปิดจบหนี้เร็วขึ้น

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน ท่ามกลางการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลง ส่งผลให้ตั้งแต่ 18 ต.ค.เป็นต้นมา ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% โดยให้มีผลต้นเดือน พ.ย. 2567 พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางไปจนถึงสิ้นปี 2567

ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ

โดยคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย ขณะที่ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (คำนวณผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2567 โดยยังไม่ได้นับรวมสินเชื่อส่วนที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า)

ลดดอกเบี้ย ช่วยตัดเงินต้น ปิดจบหนี้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง อีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ได้ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของลูกหนี้ปรับลดลงในทันที แต่ลูกหนี้จะได้รับอานิสงส์ในด้านอื่น เนื่องจากลักษณะสัญญาสินเชื่อทั่วไปของลูกหนี้รายย่อย เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันในช่วงสัญญาอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และสินเชื่อเพื่อการลงทุนในกรณีของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs จะมีการกำหนดยอดผ่อนต่อเดือนที่คงที่ (ประกอบด้วยผ่อนดอกเบี้ย+เงินต้น)

ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะมีผลในการลดยอดผ่อนดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินจะเพิ่มยอดหักเงินต้นให้ ดังนั้น ลูกหนี้จึงปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้แม้ภาระดอกเบี้ยจะลดลง แต่ลูกหนี้ยังต้องสำรองเงินเพื่อรองรับการผ่อนชำระเงินงวดในแต่ละเดือนไว้เช่นเดิม นอกจากนี้ หากลูกหนี้ต้องการลดภาระรายจ่ายโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องอาศัยการลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ร่วมด้วย โดย 3 ลำดับแรกของรายจ่ายครัวเรือน ได้แก่ หมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ หมวดที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน และหมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทาง ขณะที่ 3 ลำดับแรกของต้นทุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ได้แก่ หมวดวัตถุดิบ หมวดแรงงาน และหมวดค่าเช่าสถานที่ต่างๆ ซึ่งรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวล้วนเป็นหมวดที่ใหญ่กว่ารายจ่ายดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ

สินเชื่อปี 67 โตต่ำ แบงก์ยังเข้มปล่อยสินเชื่อ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยอาจปิดปี 2567 ในระดับไม่เกิน 1.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับลดลงมาตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ประเมินว่าทั้งผู้กู้รายย่อยและภาคธุรกิจจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่นๆ

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ