“จุลพันธ์” เตรียมจัดระเบียบสวัสดิการรัฐใหม่ บางคนเสียชีวิตแล้ว แต่ยังได้รับสิทธิ์ บางคนได้สวัสดิการสูงถึงเดือนละ 10,000 บาท จึงอัปเดตข้อมูลเป็นปัจจุบันมากสุด ด้าน “พิชัย” เผยไทยเป็นประเทศส่งออก ต้องบริหารค่าเงินให้อ่อนค่าอย่างมีชั้นเชิง “ลวรณ” แย้มการลดดอกเบี้ย กนง.มองทิศทางบริหารเศรษฐกิจเริ่มไปในทิศทางเดียวกัน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยจะหารือถึงแนวทางการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการทบทวนข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ทุก 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯรอบใหม่ช่วงต้นปี 68 และจากนั้นจะมีการคัดกรองสิทธิ์ เพื่อให้ได้คนผู้ได้สิทธิ์ทั้งหมดเสร็จทันภายในวันที่ 31 มี.ค.68
ทั้งนี้ ในการประชุมจะมีการหารือถึงแนวทางการเปิดลงทะเบียนฯ ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียน ทบทวนสิทธิ์ใหม่ทุกคนทั้งในส่วนของคนเก่าที่ได้สิทธิ์อยู่แล้ว 13.5 ล้านคน และคนใหม่ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน เพื่อคัดกรองให้คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้นที่จะได้สิทธิ์สวัสดิการ ส่วนหลักเกณฑ์การคัดกรองสิทธิ์จะมีการสรุปในเร็วๆนี้ โดยจะต้องดูทั้งในส่วนของรายได้ แต่จะเป็น 100,000 บาทต่อปีเท่าเดิม หรือปรับเป็นเท่าไรจะต้องพิจารณากันก่อน รวมถึงดูว่าเกณฑ์ที่ผ่านมาใช้พิสูจน์ฐานะความยากจนได้จริงหรือไม่ เช่น การถือครองที่ดิน เป็นต้น ก็ต้องดูให้เหมาะสม
นอกจากนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งจัดระเบียบระบบสวัสดิการทุกประเภทสำหรับประชาชนใหม่ หลังพบปัญหาคนจนไม่จริง รวมถึงดูมีความพิการจริงหรือไม่ หรือบางคนเสียชีวิตไปแล้วแต่ยังได้รับสวัสดิการอยู่ เพื่อดูว่าทุกวันนี้หน่วยงานต่างๆมีการให้สวัสดิการกี่ประเภท และมีความเหมาะสมถูกต้องหรือเปล่า จากนั้นนำข้อมูลไปปรับใช้ให้สามารถช่วยเหลือคนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาพบมีบางคนได้สวัสดิการของรัฐสูงถึงเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องไปดูให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากสุด การจัดทำฐานข้อมูลสวัสดิการที่ครบถ้วนสมบูรณ์จะเป็นเครื่องที่ช่วยให้การทำมาตรการจัดสรรสวัสดิการ เนกาทีฟ อินคัม แท็กซ์ ให้ประสบความสำเร็จ
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้า ดังนั้นการบริหารค่าเงิน ควรทำให้บาทอ่อน ซึ่งต้องบริหารค่าเงินอย่างมีชั้นเชิง การนำเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการส่งออก เรื่องบาทอ่อนลงเป็นเรื่องความในใจ แต่วิธีทำต้องมีเหตุผล มีหลายอย่าง ต้องไปดูตัวอย่างในหลายๆประเทศ เมื่อค่าเงินของเขาแข็งค่า จากการที่มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากจะทำอย่างไรให้ค่าเงินอ่อนค่าลง มีหลายเครื่องมือ การแทรกแซงและการใช้กลไกอัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกกลไกหนึ่งที่ช่วย คือการส่งเสริมการลงทุน อย่างสิงคโปร์ก็มีการตั้งกองทุนเพื่อการลงทุน หรือประเทศในแถบตะวัน ออกกลางที่ได้รับเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็ตั้งกองทุนเพื่อการลงทุน, กรณีญี่ปุ่น ซึ่งอาจไม่ถนัดในเรื่องการตั้งกองทุน แต่ใช้วิธีการส่งเสริมให้นักลงทุนญี่ปุ่นออกไปลงทุนในต่างประเทศ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ถือว่าเป็นการทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งในระยะสั้นยังไม่เห็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแต่อย่างไร แม้ว่าจะเป็นการปรับลงมาเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าจำนวนที่ลดลงคือ การส่งสัญญาณว่าขณะนี้นโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง อยู่ในทิศทางเดียวกัน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่