แม้ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าส่งออกไทยในตลาดโลกแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษ
สะท้อนจากสัดส่วนส่งออกไทยเทียบตลาดโลกประมาณ 1% ในปี 2536 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% เท่านั้นในปี 2566 ขณะที่บทบาทของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยซึ่งถือเป็น “Product Champion” มาตลอดหลายสิบปีกลับลดลงต่อเนื่องและมีแนวโน้มแข่งขันได้ยากขึ้น
เจาะสินค้าดาวรุ่งอย่างการส่งออก “ตู้เย็น” ของไทย จากที่เคยอยู่ที่ 4.7% ในปี 2556 ปัจจุบันกลับลดลงเหลือ 3.3% เท่านั้น เช่นเดียวกับแผงวงจรรวม (IC) และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน
อีกทั้งคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามและมาเลเซียก็มีข้อได้เปรียบจากการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมือถือและอุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญของบริษัทผู้ผลิตระดับโลก
ข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุใจความสำคัญและตอกย้ำความเสี่ยงว่า การส่งออกของไทยในระยะยาวกำลังแข่งขันได้ยากขึ้น หากยังไม่พัฒนา!
ในรายงานฉบับนี้ยังระบุ 2 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ส่งออกไทยไปต่อยาก ความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกไทยลดต่ำลงในทุกมิติ
ขณะที่มาตรการด้านการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันที่มีความเข้มข้นขึ้นถึงเกือบ 6 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปทำตลาดอยู่ไม่น้อย
โดย ttb analytics ห่วงผู้ประกอบการไทยเกือบ 70% ที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศสูง เสี่ยงเจอดิสรัปชันด้านการค้ารุนแรง แม้ที่ผ่านมาภาคส่งออกไทยอาจได้อานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจากการส่งออกไปสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะไทยกลับไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้ากับจีนที่มากขึ้นได้เท่าใดนัก เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกของผู้ผลิตจีนเพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่านส่งออกไปสหรัฐฯ (Trade Diversion) ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก
ทั้งนี้ การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คาดว่าจะยังคงอยู่ต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ล้วนจะยิ่งส่งผลกระทบลามไปถึงความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้ย่ำแย่ลง
ที่มา : ttb analytics
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney