พัฒนา “ทางรัฐ” เป็นซูเปอร์แอป “อิ๊งค์” ฝาก 2 งานด่วนปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พัฒนา “ทางรัฐ” เป็นซูเปอร์แอป “อิ๊งค์” ฝาก 2 งานด่วนปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

Date Time: 11 ต.ค. 2567 08:25 น.

Summary

  • “ประเสริฐ” ปลื้มควบตำแหน่งรองนายกฯ ช่วยให้การพัฒนาแอป “ทางรัฐ” ให้เป็นซูเปอร์แอป ตามบัญชานายกรัฐมนตรีมีความลื่นไหลขึ้น เผย “อิ๊งค์” ฝาก 2 เรื่องด่วน ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และยกระดับแอปทางรัฐให้เป็นซูเปอร์แอป

Latest

รู้จัก “หวย N3” คู่แข่งหวยใต้ดิน ความหวังใหม่รัฐบาล  ต้อนเงินเข้าระบบ 1 แสนล้านบาท เริ่มขาย 17 ต.ค

“ประเสริฐ” ปลื้มควบตำแหน่งรองนายกฯ ช่วยให้การพัฒนาแอป “ทางรัฐ” ให้เป็นซูเปอร์แอป ตามบัญชานายกรัฐมนตรีมีความลื่นไหลขึ้น เผย “อิ๊งค์” ฝาก 2 เรื่องด่วน ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และยกระดับแอปทางรัฐให้เป็นซูเปอร์แอป

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี ดำเนินการเร่งด่วนใน 2 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ผลักดันให้เป็นซูเปอร์แอป

ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นกระเป๋าเงินภายใต้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในเฟส 2 แล้ว ยังอยากให้พัฒนาไปสู่การเพิ่มฟีเจอร์จ่ายเงินเยียวยาเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติให้อยู่ในแอปเดียวด้วย โดยในส่วนของการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เชื่อมั่นว่ากฎหมายใหม่หลายฉบับที่กำลังทยอยออกมาบังคับใช้ จะช่วยให้เร่งรัดปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีประสิทธิภาพ ส่วนการพัฒนาแอป “ทางรัฐ” เพิ่มเติมนั้น เชื่อว่าจะสะดวกขึ้น เนื่องจากขณะนี้ตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลแอป “ทางรัฐ”

นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินการของดีอีตลอด 1 ปี (1 ต.ค.2566-30 ก.ย.2567) ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ว่า ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกประเภทแล้ว จำนวน 150,425 รายการ เพิ่มขึ้น 8.51 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ต.ค.2565-30 ก.ย.2566) ที่มีจำนวน 17,670 รายการ ส่วนตัวเลขความเสียหายต่อวัน ลดลงเหลือ 60-70 ล้านบาท จาก 100 ล้านบาท

“ในช่วง 12 เดือน หรือ 1 ปี ที่ผ่านมา ดีอี ได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 150,000 รายการ โดยมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังต่อเนื่อง พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลร่วมกันรวมถึงการได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส ข้อมูลข่าวปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมายผ่านทางสายด่วน 1111 อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม หรือกลโกงของมิจฉาชีพที่หลอกให้เข้าไปลงทุน หรือกดลิงก์แพลตฟอร์มต้องสงสัยภายในโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมาย เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สูญเสียทรัพย์สินได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ