ตั้งกลไกรับมือสินค้าจีน เอกชนสรุปประเด็นถก “นายก-ผู้ว่า ธปท.”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งกลไกรับมือสินค้าจีน เอกชนสรุปประเด็นถก “นายก-ผู้ว่า ธปท.”

Date Time: 10 ต.ค. 2567 08:29 น.

Summary

  • เอกชนเตรียม 2 ประเด็นสำคัญหารือ “นายกฯอิ๊งค์-ผู้ว่าการ ธปท.” หลังทำหนังสือขอเข้าพบแล้ว ทั้งออกมาตรการกับสินค้านำเข้าต่ำกว่ามาตรฐาน และเก็บแวต-ภาษีกำไร พร้อมหากลไกดูแลชำระเงิน ขณะที่ 3 องค์กรเอกชนจับมือตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน”

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

เอกชนเตรียม 2 ประเด็นสำคัญหารือ “นายกฯอิ๊งค์-ผู้ว่าการ ธปท.” หลังทำหนังสือขอเข้าพบแล้ว ทั้งออกมาตรการกับสินค้านำเข้าต่ำกว่ามาตรฐาน และเก็บแวต-ภาษีกำไร พร้อมหากลไกดูแลชำระเงิน ขณะที่ 3 องค์กรเอกชนจับมือตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน ประกาศจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” ว่า เตรียมนำเสนอ 2 ประเด็นสำคัญที่จะหารือกับรัฐบาล หลังจากที่ได้ทำหนังสือขอเข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ การดูแลและออกมาตรการกับสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบ และออกมาตรฐานดูแลสินค้าให้ชัดเจน โดยกรมศุลกากรต้องเป็นด่านหน้า สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกกฎระเบียบและผิดกฎหมาย เข้ามาไทย

ส่วนอีกประเด็นคือ การค้าสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ เช่น Lazada, Shopee หรือ TEMU โดยภาครัฐควรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในการซื้อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ, เก็บภาษีกำไรหรือภาษีเหมากับกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซไม่ได้แสดงบัญชีกำไร-ขาดทุน แต่ผู้ประกอบการไทย เมื่อผลประกอบการมีกำไรจะเสียภาษีให้ภาครัฐ 20% และหากลไกดูแลการชำระเงิน เพราะการชำระผ่าน Application, WeChat, Alipay ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1 กล่าวว่า 3 องค์กรประกาศจัดตั้งกลไก จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ คาดว่าภายใน 2-3 เดือน จะเห็นแผนงานและทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจนขึ้น ภายใต้แผนดำเนินการสำคัญ 9 ประการ โดยหนึ่งในนั้นจะรวบรวมประเด็นที่ผู้บริโภค ประชาชนให้ความเป็นห่วงนำมาศึกษา รวบรวม เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานต่อไป มั่นใจว่าการประกาศครั้งนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการสนับสนุนระหว่างกัน

“การจัดตั้งกลไกนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้น ช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่างๆที่ภาคธุรกิจทั้ง 2 ประเทศเผชิญหน้า โดยเฉพาะด้านกฎหมายและข้อบังคับทางการค้า ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีนว่าจะร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”

ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า การไหลมาของจีนไม่ใช่เฉพาะตัวสินค้าแต่รวมถึงนักลงทุนด้วย การมีกลไกจะเป็นตัวสร้างความมั่นใจและ เชื่อใจให้ 2 ประเทศ ในการเข้ามาทำการค้า การลงทุน อีกทั้งจะช่วยสกัดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพหรือราคาถูก ไม่ให้วางขายตามท้องตลาด รวมถึง สกัดนักลงทุนสีเทา ซึ่งจะช่วยคลายความกังวล และปัญหาให้กับผู้บริโภค ทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และมีการลงทุนที่มีคุณภาพเข้ามา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ