แรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่ว! “น้ำท่วม” เสียหาย 4.6 หมื่นล้าน ฉุดจีดีพีปี 67 ส่อโตต่ำ 2.4%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่ว! “น้ำท่วม” เสียหาย 4.6 หมื่นล้าน ฉุดจีดีพีปี 67 ส่อโตต่ำ 2.4%

Date Time: 9 ต.ค. 2567 14:04 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • วิจัยกรุงศรี คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตที่ 2.4% พร้อมประเมิน ที่ประชุม กนง.นัดถัดไป 16 ต.ค.นี้ อาจตัดสินใจ "คงดอกเบี้ย" สูง 2.5% ถึงสิ้นปีนี้ ก่อนมีแนวโน้มปรับลดในช่วงครึ่งแรกของปี 2568

วิจัยกรุงศรีออกรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ปี 2567 โดยประเมินว่า แม้แรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศที่แผ่วลงในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อาจกลับมากระเตื้องขึ้นได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

จากปัจจัยสนับสนุน “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ผ่านการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางรายละ 10,000 บาท วงเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท ซึ่งภาครัฐดำเนินการโอนแล้วในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สร้างผลบวกต่อ GDP ปีนี้ +0.2% ถึง +0.3%

อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรียังคงประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 ไว้ที่ 2.4% เนื่องจากผลบวกจากมาตรการข้างต้นอาจถูกลดทอนด้วยผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านไร่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและทรัพย์สินอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น -0.27% ของ GDP หรือหากกรณีเลวร้ายสุด (Worst case) พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 11 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหายรวม 5.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น -0.34% ของ GDP

คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% 

สำหรับการประชุมของ กนง. หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในเดือน ต.ค. นี้ วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่มีแนวโน้มเริ่มปรับลดในช่วงครึ่งแรกของปี 2568

หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการหารือกับผู้ว่าธปท.ในหลายประเด็น เช่น กรอบเงินเฟ้อ การแก้ไขหนี้ครัวเรือน และการแลกเปลี่ยนสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมกับยืนยันว่ายังสนับสนุนหลักการการลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

สำหรับการประชุมกนง. ครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เนื่องจากประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ส่วนการประชุมครั้งถัดไปจะมีขึ้นสัปดาห์หน้าในวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 5 ของปีนี้

“คาดการณ์ว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568”

ทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยมาจากภาวะการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPLs) จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง รวมไปถึงผลเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทยอยลดลง และช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่แคบลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแรงกดดันจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน จากปัจจัยเหล่านี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดลงสู่ระดับ 2.00% ภายในสิ้นปี 2568

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ