เมื่อปีที่แล้ว “ราคาข้าว” โลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังจากที่อินเดีย ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้ตัดสินใจห้ามส่งออกข้าวขาว และกำหนดภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% เพื่อรักษาความนิยมช่วงเลือกตั้ง ผ่านการควบคุมปัญหาราคาสินค้าในประเทศ
โดยอานิสงส์ที่ประเทศคู่แข่งอย่างประเทศไทยได้รับ คือ ส่วนแบ่งการตลาดและปริมาณส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถกำหนดราคาข้าวที่สูงในตลาดโลกได้ อีกทั้งทำให้ยอดส่งออกข้าวไทยทะลุเป้า 8.7 ล้านตัน เมื่อปี 2566 โดยอินโดนีเซียเป็นตลาดอันดับหนึ่ง
ย้อนไปช่วงปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากทั่วโลกมากถึง 3 ล้านตัน แบ่งเป็น นำเข้าจาก...
ส่วนในปี 2567 อินโดนีเซียคาดว่าจะนำเข้าข้าวจากทั่วโลกทั้งสิ้น 4 ล้านตัน ขณะระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 อินโดนีเซียมีการนำเข้าแล้ว 2.6 ล้านตัน และเป็นการนำเข้าจากไทยมากถึง 1.07 ล้านตัน เวียดนาม 7 แสนตัน ปากีสถาน 4.5 แสนตัน และชาติอื่นๆ อีกบางส่วน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงานฉบับล่าสุดว่า หลังจากนิวเดลีลดภาษีส่งออกข้าวนึ่งเหลือ 10% เนื่องจากได้ผลผลิตข้าวใหม่และมีข้าวในคลังของรัฐเพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลอนุมัติให้การส่งออกข้าวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ก็ส่งผลให้อุปทานข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้น และเริ่มกดดันราคาข้าวในตลาดโลก
โดยข้าวขาว 5% ของอินเดีย RI-INBKN5-P1 ถูกเสนอราคาที่ 500-510 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน ลดลงจาก 530-536 เหรียญสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนข้าวขาวหัก 5 เปอร์เซ็นต์ของอินเดียถูกเสนอราคาที่ประมาณ 490 เหรียญสหรัฐ ขณะผู้ส่งออกในเวียดนาม ปากีสถาน ไทย และเมียนมาร์ยังลดราคาลงอย่างน้อย 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน
เจาะราคาข้าวไทยอยู่ที่ 540-550 เหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 550-560 เหรียญสหรัฐต่อตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายกำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุปทานข้าวที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย
สำหรับการส่งออกข้าวของอินเดียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการส่งออกข้าวทั่วโลกในปี 2565 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดที่ 22.2 ล้านเมตริกตัน จากปริมาณการค้าโลกทั้งหมด 55.4 ล้านเมตริกตันในช่วงเวลาดังกล่าว
ขณะกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า การตัดสินใจของอินเดียในการกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง นำมาซึ่งทั้งความท้าทายและอาจกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมายังอินโดนีเซีย
ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวขาวรายใหญ่รายหนึ่ง อาจต้องเร่งพิจารณาส่งเสริมการส่งออกข้าวลักษณะพิเศษเช่น ข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าวอินทรีย์ และชูจุดเด่นด้านคุณภาพข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือมาอย่างยาวนาน ตลอดจนความร่วมมือที่จะสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายเรื่องส่งออกข้าวของอินเดียในครั้งนี้ด้วย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney