ไทยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ฉวยจังหวะแสดงศักยภาพช่วงสงครามตะวันออกกลาง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ฉวยจังหวะแสดงศักยภาพช่วงสงครามตะวันออกกลาง

Date Time: 5 ต.ค. 2567 09:01 น.

Summary

  • “พิชัย” เผยกระทรวงพาณิชย์รับลูก “แพทองธาร” ชูไทยเป็นคลังอาหารของตะวันออกกลาง โดยพร้อม ผลิต-เก็บรักษา-ส่งมอบภายใน 24 ชม. หลังความ ไม่สงบส่อเค้ารุนแรงขึ้น สนค.เผยไทยยืนหนึ่งผู้ส่งออกมังคุดโลก ล่าสุด 8 เดือนปีนี้ ส่งออกแล้วเกือบ 2.5 แสนตัน มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุม ACD summit เมื่อวันที่ 2-3 ต.ค.67 ที่ประเทศกาตาร์ ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงบทบาทผู้นำของไทยอย่างยอดเยี่ยม และเป็นที่ชื่นชมของผู้นำต่างประเทศ มีผู้นำหลายประเทศมาขอร่วมถ่ายภาพด้วย ล่าสุด ติดอันดับ 100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคตของนิตยสาร TIME โดยนายกฯได้แสดงวิสัยทัศน์ ว่า ในภาวะที่มีความไม่สงบและมีความผันผวนในตะวัน ออกกลาง ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้ จึงเสนอแนวคิดความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยจะเสนอเป็นประเทศ ผู้ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย เก็บรักษา และพร้อมส่งมอบให้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หากความไม่สงบรุนแรงขึ้น และขาดแคลนอาหาร มั่นใจได้ว่าประชาชนในประเทศตะวันออกกลางจะไม่ขาดแคลนอาหาร รวมถึงผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งประเทศต่างๆสนใจมาก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), กาตาร์, คูเวต,โอมาน เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สานต่อความร่วมมือการสร้างคลังอาหารกับตะวันออกกลางให้สำเร็จ ซึ่งผมได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากยูเออี และโอมาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งแสดงความพร้อมของไทยในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นคลังอาหารให้แก่ทั้ง 2 ประเทศ พร้อมกับเชิญชวนให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรในไทย อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับ รมต.เศรษฐกิจยูเออี ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสรุปผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยูเออีในโอกาสแรกด้วย”

ส่วนการหารือกับ รมว.เศรษฐกิจโอมานนั้น ได้หารือถึงแนวทางการขยายการค้าระหว่างกัน โดยโอมานชื่นชมพัฒนาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในภาคธุรกิจ และแสดงความสนใจต่อการที่ไทยจะเป็นคลังอาหารให้แก่โอมาน รวมถึงสนใจจะทำเอฟทีเอไทย-โอมานด้วย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออกมังคุดไทย พบว่า ไทยครองอันดับ 1 ของโลก และส่งออกไปจีนมากกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยไปโลก โดยช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 67 ไทยส่งออกแล้ว 247, 274.83 ตัน เพิ่มขึ้น 25.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 มูลค่า 427.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%

สำหรับตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 90.83% ตามด้วยเวียดนาม 5.09%, เกาหลีใต้ 1.68%, สหรัฐฯ 0.51% และกัมพูชา 0.33% ขณะที่ปี 66 ไทยส่งออก 248,612.25 ตัน เพิ่มขึ้น 20.8% เมื่อเทียบกับปี 65 มูลค่า 502.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 17,192.32 ล้านบาท ขยายตัว 25.6%

“ปี 66 จีนนำเข้ามังคุด 730.41 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 16.2% โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 85.07% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 14.91% และมาเลเซีย 0.01% อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการนำเข้าจากไทยลดลงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่านำเข้าและสัดส่วนการนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น อีกทั้งจีนยังได้อนุญาตการนำเข้าจากเวียดนาม และเมียนมา ทำให้ไทยมีคู่แข่งมากขึ้น”

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ไทยต้องเดินหน้ารักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เริ่มจากการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เหนือกว่าเดิม ผลิตให้ได้คุณภาพส่งออก ใช้เทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น สร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นเฉพาะตัวของมังคุดไทยเพื่อดึงดูดลูกค้า อย่างมังคุดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เช่น มังคุดในวงระนอง มังคุดเขาคีรีวง และมังคุดทิพย์พังงา รวมถึงโปรโมตผลิตภัณฑ์มังคุดใหม่ๆ เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ตั้งแต่ร้านขายของฝาก คาเฟ่ ร้านอาหาร ไปจนถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ และแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ จะช่วยส่งเสริมให้มังคุดไทยกระจายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ