การเงินติดลบ-เน้นใช้จ่ายคุ้มค่า "ไลน์-นีลเส็น" เผยคนไทยติดแบรนด์ลดลง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

การเงินติดลบ-เน้นใช้จ่ายคุ้มค่า "ไลน์-นีลเส็น" เผยคนไทยติดแบรนด์ลดลง

Date Time: 3 ต.ค. 2567 08:45 น.

Summary

  • ไลน์จับมือนีลเส็นไอคิวเปิดข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค พบคนไทยมีฐานะการเงินติดลบ 5.7 ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ ติดลบ 2.6 แต่ยังคงจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค โดยภาวะเศรษฐกิจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นจ่ายแบบมีจุดมุ่งหมาย เรียบง่าย ติดแบรนด์น้อยลง และมองหานิยาม “ความคุ้มค่า” ใหม่ที่ไม่ได้จำกัดแค่ราคา

Latest

ราคาที่แนวรถไฟฟ้าขยับขึ้น ธอส. ชี้ส่งสัญญาณธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว

ไลน์จับมือนีลเส็นไอคิวเปิดข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค พบคนไทยมีฐานะการเงินติดลบ 5.7 ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ ติดลบ 2.6 แต่ยังคงจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค โดยภาวะเศรษฐกิจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นจ่ายแบบมีจุดมุ่งหมาย เรียบง่าย ติดแบรนด์น้อยลง และมองหานิยาม “ความคุ้มค่า” ใหม่ที่ไม่ได้จำกัดแค่ราคา

นายรัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ ไลน์ (LINE) ประเทศไทย กล่าวในงาน THAILAND NOW & NEXT : Thriving through The Economic Instability ว่า หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนซึ่งสูงกว่า 90% ของจีดีพี ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก การไหลเข้าของสินค้าจีนในอาเซียน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ธุรกิจไทยต้องรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง

“จากการเก็บข้อมูลของไลน์ ในฐานะแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อธุรกิจของคนไทย ซึ่งทำงานร่วมกับแบรนด์สินค้าไทยผ่านการเปิดไลน์ ออฟฟิเชียล แอ็กเคาต์ (LINE Official Account-LINE OA) อยู่บนแพลตฟอร์มของไลน์กว่า 6 ล้านบัญชี เรามองเห็นการเติบโตที่ดีขึ้นของแบรนด์ที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ ขณะที่แบรนด์เล็ก รวมทั้งเอสเอ็มอี ที่เน้นการขายสินค้าให้ได้ทันที ผ่านการทำโปรโมชัน ลดราคา ทำยอดขายเติบโตไม่ได้ดีนัก เพราะลูกค้ายุคนี้พร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ถูกกว่าเสมอ จึงอาจต้องขยับขึ้นมาสร้างความจดจำในแบรนด์ (Brand Awareness) หรือใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายได้ยั่งยืนขึ้น”

ด้าน น.ส.ชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยตลาด เปิดเผยว่า ผลวิจัยของนีลเส็นบ่งชี้ว่า คนไทย 29% มองว่าสถานภาพทางการเงินดีขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2567 แต่กว่า 35% บอกว่าแย่ลงหรือติดลบ 13% ทำให้ในภาพรวมคนไทยมีฐานะการเงินติดลบ 5.7 ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ ติดลบ 2.6 สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปและคาดว่าจะเป็นเทรนด์ในปี 2568 คือใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง พิถีพิถันมากขึ้น

ซึ่งเกิดขึ้นจาก 4 ตัวแปร คือ 1.ผู้บริโภคปรับตัวได้ดีขึ้นกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การประเมินค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ใช้เงินอย่างคุ้มค่า 2.ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าแพง ทำให้ความภักดีต่อแบรนด์น้อยและหันไปมองสินค้าที่คุ้มค่ากว่า 3.กลุ่มผู้บริโภคมีความปะปนทางการเงิน ทั้งมีความมั่นคงสูง เริ่มมีความมั่นคงมากขึ้น แต่กลุ่มใหญ่มากกว่า 50% ไม่มีความมั่นคงและกังวลค่าใช้จ่าย จึงจะเน้นซื้อของที่มีความเรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง 4.นิยาม “ความคุ้มค่า” แบบใหม่ ที่ไม่ได้มองแค่ราคา แต่พิจารณาคุณค่าอื่น เช่น สินค้ามีนวัตกรรมใหม่ สร้างความยั่งยืน มาจากธรรมชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย พบว่ายังคงมีการเติบโตของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย ณ เดือน ก.ค.2567 เติบโตในแง่มูลค่า (Value) 4.8% และโตในแง่ปริมาณ (Volume) 5% “การทำยอดขายให้เติบโตในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ต้องมีกลยุทธ์ที่ถูกต้อง หากขายได้ปริมาณน้อยลงนั่นหมายถึงการเข้าถึงลูกค้าได้น้อยลง หรือลูกค้าซื้อสินค้าแค่ครั้งเดียวแล้วไม่กลับมาอีก”

น.ส.ชินตากล่าวถึงไฮไลต์ของการบริโภคในปี 2568 ประกอบด้วย 1.ฐานะการเงินของผู้บริโภค ซึ่ง 35% รู้สึกว่ายังอยู่ในสถานการณ์การเงินที่ย่ำแย่ แม้อาจดีขึ้นเล็กน้อยกว่าต้นปี 2567 และราคาอาหารที่แพงขึ้นเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความกังวลเป็นอับดับต้นๆ 2.การจับจ่ายของผู้บริโภค จะเปลี่ยนจากใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เป็นใช้จ่ายแบบมีจุดมุ่งหมาย 3. ผู้บริโภคมีความหลากหลายทางการเงิน ตั้งแต่ไม่มีปัญหาทางการเงิน, ฐานะเริ่มกระเตื้องขึ้น และยังแย่ โดย 84% บอกว่าจะต้องหารายได้เพิ่ม และทำงานมากกว่า 1 งาน

4.ของถูก สินค้าลดราคาไม่ตอบโจทย์เสมอไป โดย 55% ของผู้บริโภคบอกว่าพร้อมจะจ่ายแพงเพื่อสินค้าที่ชื่นชอบ คุ้มค่า และสร้างความพึงพอใจ 5.เทรนด์การตลาดใหม่ๆ เช่น การใช้โซเชียลมีเดียขายสินค้า การขายสินค้าครอบคลุมทุกช่องทาง การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยขาย ที่นำมาซึ่งข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค

“เทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ รับรู้ข้อมูล และปรับตัวอย่างทันท่วงที การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้แบรนด์เติบโตและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง LINE พร้อมที่จะเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัว อยู่รอด และเติบโตอย่างมั่นคง ในยุคที่การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” นายรัฐธีร์กล่าวสรุป.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ