พนักงานไทย กว่า 48% ติด Comfort Zone ยอมทำงาน “ต่ำกว่า” ทักษะ  เพราะงานหายาก ยิ่งกว่าหาคู่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

พนักงานไทย กว่า 48% ติด Comfort Zone ยอมทำงาน “ต่ำกว่า” ทักษะ เพราะงานหายาก ยิ่งกว่าหาคู่

Date Time: 2 ต.ค. 2567 12:10 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • "งานหายาก ยิ่งกว่าหาคู่" สาเหตุพนักงานไทย ติดกับดัก Comfort Zone เลือกความสบายใจ มากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพ กว่า 48% มีความสุข แม้ทำงานไม่ตรงทักษะ

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงานที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ไล่ตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไว ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้าลง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ องค์กรจึงต้องบีบเอาประสิทธิภาพสูงสุด (Productivity) จากพนักงาน ในช่วงหลังโควิด เราจึงเห็นกระแสต่อต้าน "การทำงานหนัก" บ่อยขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ Quiet quitting หรือการติด Comfort Zone ยึดติดกับงานปัจจุบัน ปฏิเสธความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

สอดคล้องกับผลสำรวจของ Jobsdb by SEEK ที่พบว่าพนักงานไทยส่วนใหญ่ รู้สึกว่าตัวเองทำงานไม่ตรงกับทักษะที่มี และงานที่ทำไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานที่ตั้งไว้ โดย

  • 25% ของพนักงานรู้สึกว่าตำแหน่งงานที่ทำอยู่ไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย
  • มีพนักงานไทยเพียง 12% เท่านั้นที่เชื่อว่าตำแหน่งงานของตัวเองตรงกับทักษะและวัตถุประสงค์ในการทำงานอย่างแท้จริง

ในขณะที่ 48% ของพนักงานไทย รู้สึกมีความสุขกับตำแหน่งงานที่ทำในปัจจุบัน แม้ว่าทักษะของตัวเองจะไม่ตรงกับงานก็ตาม

เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปตามระดับรายได้ พบว่า กลุ่มพนักงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ (รายได้น้อยกว่า 13,000 บาทต่อเดือน) จำนวน 41% รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ตรงกับทักษะและตำแหน่งงานในฝันเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่ 18% ของพนักงานที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (รายได้มากกว่า 70,000 บาทต่อเดือน) รู้สึกว่างานของตัวเองตรงกับทักษะความสามารถและเป้าหมายเป็นอย่างดี

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าพนักงานไทยปรับตัวเก่ง สามารถหาหนทางเติบโตในงาน พร้อมกับได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ แม้สายงานนั้นจะไม่ตรงกับทักษะที่ตัวเองเชี่ยวชาญ

คนไทยยอมทำงาน “ต่ำกว่าทักษะ” เพราะหางานยาก ยิ่งกว่าหาคู่

เมื่อเปรียบเทียบการหางานกับการหาคู่ชีวิต พบว่า 54% ของพนักงานไทยมองว่าการหางานที่เหมาะสมนั้นยากพอ ๆ กับการหาคู่ครองระยะยาว หลายคนจึงยึดติดกับงานที่ทำในปัจจุบันแม้ตำแหน่งงานที่ทำจะไม่ตรงกับทักษะหรือเป้าหมายการทำงาน เพียงเพราะว่าพวกเขาสบายใจที่จะอยู่ในจุดนั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่างานมีอิทธิพลมากต่ออารมณ์และความสุขในชีวิตของคนทำงาน การตัดสินใจออกจาก Comfort zone นั้น เลือกความเติบโตในหน้าที่การงาน เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การตัดสินใจทำงานเดิมเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปนั้นมี “ค่าเสียโอกาส” อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสในการค้นหาสายงานที่เหมาะกับตัวเอง จากผลสำรวจพบว่า 42% ของพนักงานไทย มองว่าหางานที่ตรงกับคุณสมบัติยากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับตอนช่วงแรก ๆ ของชีวิตการทำงาน ในขณะเดียวกัน 92% ของพนักงานไทย เปิดใจที่จะเปลี่ยนอาชีพของตัวเอง โดยมองหาและพร้อมทำงานในตำแหน่งที่แตกต่างจากสาขาที่เรียนมา แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและความมุ่งมั่นในการค้นหางานที่ตอบโจทย์ต่อชีวิตพวกเขา

คนรุ่นใหม่ ไม่ติด Comfort Zone

แม้ภาพรวมพนักงานไทยจะติดกับดัก Comfort Zone เน้นทำงานที่ให้ความสบายใจ มากกว่าที่จะพยายามไต่บันไดองค์กร เลื่อนขั้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่า แต่เมื่อพิจารณากลุ่มพนักงานไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี พบว่า เกินกว่าครึ่งของคนกลุ่มนี้ หรือ 54% เลือกทำงานตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งไม่นาน และพร้อมที่จะหางานใหม่ได้ไวกว่าหากเปรียบเทียบกับคนทำงานวัยอื่น ๆ

  • มีเพียง 17% ของพนักงานไทยในช่วงอายุ 45-54 ปี ที่เลือกลาออกจากตำแหน่งที่ไม่เหมาะกับทักษะของตัวเอง
  • 16% ของคนกลุ่มนี้เต็มใจที่จะทำงานในตำแหน่งเดิมเกินห้าปี ก่อนที่จะเริ่มมองหางานใหม่อย่างจริงจัง

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ