“จุลพันธ์” เผยโอนเงินหมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบางเสร็จสิ้น เหลือเกือบ 4 แสนคนที่โอนไม่สำเร็จ เหตุไม่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ และบัตรผู้พิการหมดอายุ เดินหน้าแจกเฟส 2 เต็มวงเงินหมื่นบาท เพราะเตรียมงบไว้แล้ว ขณะที่ ธปท.ชี้เงินหมื่นดันเศรษฐกิจคึกคักจริง พร้อมรับบาทแข็ง กระทบส่งออกสินค้าเกษตร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 รัฐบาลได้โอนเงิน 10,000 บาทให้ผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวันสุดท้าย โดยโอนเงิน สำเร็จ 14.51 ล้านคน และโอนไม่สำเร็จ 370,000-380,000 คน สำหรับคนที่โอนไม่สำเร็จ เพราะยังไม่ได้ผูกบัญชีธนาคารกับระบบพร้อมเพย์ และบัตรผู้พิการหมดอายุ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้เงิน 10,000 บาท ให้ติดต่อธนาคารที่มีบัญชี เพื่อผูกระบบพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งจะโอนให้ 3 ครั้ง คือ วันที่ 22 ต.ค.67, วันที่ 22 พ.ย.67 และวันที่ 22 ธ.ค.67 หากยังโอนไม่สำเร็จ รัฐบาลจะยุติการโอนทันที
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงข่าวโอนเงิน 10,000 บาทระยะ 2 ที่จะไม่เต็มวงเงิน 10,000 บาท จ่ายเพียง 5,000 บาทว่า รัฐบาลจะแจกเงินครบ 10,000 บาท แน่นอน เพราะกันงบปี 68 ไว้แล้ว 189,000 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงิน 10,000 บาทระยะที่ 2 จะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต หรือเงินสด หรือแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ต้องรอคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาก่อน
ส่วน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลของการแจกเงินสด 10,000 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบางว่า ภาพรวมขณะนี้เห็นการใช้จ่ายคึกคักขึ้น และเกิดการหมุนเวียนของเงิน แต่ผลโดยรวมต้องแยกว่า นำเงินไปซื้ออะไร ถ้าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค หรือซื้อปุ๋ย ก็จะช่วยให้เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ แต่หากเอาไปใช้หนี้ เงินส่วนนี้อาจไม่หมุนต่อ หรือซื้อสินค้านำเข้าก็อาจจะมีเงินที่หลุดรอดไปบ้าง
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นนั้น ถือเป็นการแข็งค่าเป็นอันดับ 3 โดยมี เงินริงกิตมาเลเซียแข็งขึ้นอันดับ 1 เพราะตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาด
การแข็งค่าขึ้นของเงินหลายสกุลในภูมิภาค และเงินบาท เป็นไปตามการแข็งค่าของเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและสูงกว่าที่คาด รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นด้วย
นอกจากนี้ เสถียรภาพการเมืองไทยดีขึ้น และเริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น มีความมั่นใจในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น “หากถามว่าเราทำอะไรหรือไม่ อย่างที่บอกว่า ธปท.ติดตามใกล้ชิด และเข้าไปดูแลในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนแรง เพื่อลดผลกระทบกับทุกภาคเศรษฐกิจ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตถึงเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากตีราคา เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลง มูลค่าทุนสำรองก็เพิ่มขึ้น และอีกส่วนมาจากการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทด้วยการซื้อดอลลาร์ของ ธปท.”
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเงินบาทแข็ง รายได้จากการส่งออกที่แปลงเป็นเงินบาทจะลดลง สินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่น แต่ผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์ แต่จากการศึกษาค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้กระทบต่อการส่งออกมากเท่ากับความต้องการซื้อจากต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอาจมีไม่มากนัก.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่