GDP ตัวชี้วัดความ“กินดี-อยู่ดี”ของประชาชนจริงหรือ? เมื่อเศรษฐกิจโต แต่รายได้อาจตกอยู่กับคนส่วนน้อย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

GDP ตัวชี้วัดความ“กินดี-อยู่ดี”ของประชาชนจริงหรือ? เมื่อเศรษฐกิจโต แต่รายได้อาจตกอยู่กับคนส่วนน้อย

Date Time: 27 ก.ย. 2567 15:09 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ไขข้อข้องใจ GDP ใช้เป็นตัวชี้วัดความ “กินดี-อยู่ดี” ของประชาชนคนไทยได้จริงหรือ? เมื่อเศรษฐกิจโต แต่รายได้ส่วนใหญ่ อาจตกอยู่กับคนส่วนน้อย เพราะอะไรรัฐบาลเพื่อไทย กับ ธปท. มองสวนกัน ในยุคที่นักเศรษฐศาสตร์ เริ่มเสียงดัง ให้ไทยหยุดไล่ล่าตัวเลข GDP

Latest


เป็นที่รับรู้กันว่า “โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งท้ายที่สุดได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ของรัฐบาลเพื่อไทย ถูกริเริ่มขึ้นด้วยเป้าหมายต้องการสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ จากปัญหาประเทศไทยฟื้นตัวได้ช้าหลังวิกฤติโควิด-19

ผ่านวิธีการที่เบื้องต้นจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ใส่มือประชาชนเพื่อให้จับจ่ายใช้สอยสูงถึง 4 แสนล้านบาท ภายใต้ความคาดหวังว่าจะปลุกการบริโภค การลงทุน หนุนให้ GDP ไทยมีโอกาสเติบโตไปแตะที่ 5% ได้

และหากย้อนนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ในรายละเอียดก็ระบุชัด เป้าหมายสูงสุดของการเป็นรัฐบาล ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ประเด็นการไล่ล่าตัวเลข GDP ไทย ถูกมองแย้งออกมาจากผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายการเงินของประเทศ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่บ่อยครั้ง สะท้อนความขัดแย้งทางความคิดที่ดูเหมือนจะคนละทิศละทางกับรัฐบาล พร้อมย้ำชัด “การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ไม่ควรล่า GDP หากแต่ควรสะท้อนความมั่งคั่งของครัวเรือนต่างหาก”

แล้วสรุป GDP คืออะไรกันแน่? ขณะเดียวกัน ตัวเลขดังกล่าวสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่ดีจริงหรือ…

Thairath Money ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลข GDP พร้อมไขข้องใจ ทำไม ธปท. ถึงมองว่า GDP ไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่ง หรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร

รายละเอียดใน เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ ฉบับปรับปรุงใหม่ มีการกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า...

GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ที่เราใช้เป็นตัวชี้วัดความกินดีอยู่ดีของประเทศ ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีก่อน แม้ว่าจะเป็นวิธีพื้นฐานที่สุดในการวัดและสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ผ่านสมการ

GDP = C + I + G + (X – M)

  • C รายจ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชน (consumption)
  • I รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน (investment)
  • G รายจ่ายของรัฐบาล (government expenditure)
  • X-M มูลค่าการส่งออกสุทธิ (net export)

แต่ก็มีข้อบกพร่องในการที่จะใช้วัดความกินดีอยู่ดีของประชาชน เพราะยังไม่คำนึงถึงทุกมิติอย่างรอบด้านทั้งทางด้านมิติชีวิตและสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

เราคงเคยได้ยินกันว่า เศรษฐกิจโตเท่านั้นเท่านี้เช่น 6% หรือ 8% บ้าง นั่นก็คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของ GDP ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ (อาจจะในรอบหนึ่งปีหรือหนึ่งไตรมาส) ซึ่งก็จะสะท้อนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth)

เช่น ปีนี้ GDP เท่ากับ 10.5 ล้านล้านบาท ปีที่แล้ว GDP เท่ากับ 10 ล้านล้านบาท เราก็คำนวณได้แล้วว่าเศรษฐกิจโตเท่ากับ 5% นั่นเอง จุดบอดของการยึดติดตัวเลข GDP คือ การวัดมูลค่าของสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ไร่แห่งหนึ่งผลิตส้มออกมามากขึ้นหลายเข่ง ช่างตัดผมให้บริการตัดผมลูกค้าได้มากขึ้นในแต่ละวัน ไม่ได้หมายถึงมูลค่าของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เพราะเป็นไปได้ว่าการที่มูลค่าของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นเพราะราคาที่แพงขึ้น

แต่แท้จริงแล้วปริมาณสินค้ายังเท่าเดิมเช่นนี้เราไม่ถือว่าเศรษฐกิจโต การที่เศรษฐกิจโตหรือขยายตัว จะหมายถึงประเทศจะต้องมีสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการมากขึ้นจริง ๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน ธปท. ยังระบุว่า การที่ GDP ไม่อาจใช้เป็นตัวชี้วัดความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่ดีได้ ยังมาจากหลายเหตุผล 4 ด้าน คือ

1. ไม่ได้คำนึงถึงการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมหรือความเป็นอยู่ที่ดีของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะการคำนวณ GDP เป็นการนำรายได้ของทุกคนมารวมกันเป็นรายได้ประชาชาติโดยไม่ได้คำนึงว่าใครมีรายได้มาก ใครมีรายได้น้อย หรือช่องว่างรายได้ของผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างไร รายได้ส่วนใหญ่อาจตกอยู่กับคนส่วนน้อยของประเทศก็ได้

2. ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เพราะ GDP ไม่ได้นำต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมาคิดรวมด้วย เราทราบแล้วว่า การผลิตที่ก่อให้เกิดเป็น GDP นั้นมาพร้อมกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ ทางอากาศ ดังนั้น ระยะหลังจึงมีการพูดถึง Green GDP ซึ่งก็คือ การนำ GDP มาหักด้วยต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ) ที่ต้องสูญเสียไปจาก GDP ที่เพิ่มขึ้น

3. ไม่สนใจที่มาของเงินที่ทำให้ GDP โต อาจจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางลบ เช่น การพนัน สุรา ยาสูบ และสถานบันเทิงเริงรมย์เป็นต้น ที่ทำให้เกิดอาชญากรรมและอุบัติเหตุ นอกจากนี้ความแตกต่างของเมืองกับชนบท ทำให้มีการอพยพย้ายถิ่นมาทำงานในเมือง ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวและสังคม ค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกหักออกจาก GDP

4. ไม่ได้นับกิจกรรมที่สร้างสรรค์สังคม เช่น กิจกรรมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว และการฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นที่รับทราบว่า การใช้ GDP แทนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จะมีจุดบอดหลายข้อ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีตัวชี้วัดอย่างอื่นที่เหมาะสมจะมาใช้แทน GDP

แต่ตอนนี้ถ้าใครได้อ่านข่าว คงจะได้ยินคำว่า “inclusive growth” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการเจริญเติบโตแบบดั้งเดิมที่เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง ๆ ไปสู่การเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วมโดยคนส่วนใหญ่

ส่วนร่วมในที่นี้ก็คือ การกระจายโอกาสให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ลองนึกถึงการขับรถบนถนน 2 เลน เวลาไฟเขียวหรือช่วงเศรษฐกิจดี รถทุกคันอยากวิ่งไปข้างหน้า แต่มีเพียง 1 เลนที่รถแล่นไปได้อย่างคล่องตัว

ในขณะที่อีกเลนเคลื่อนตัวช้า ๆ เสมือนโอกาสที่คนในสังคมได้รับไม่เท่าเทียมกัน ในที่สุดรถบางคันทนไม่ไหวจึงเปลี่ยนเลน โอกาสที่ทั้งสองเลนจะชะลอหรือหยุดชะงักจึงมีสูง สะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างไม่ทั่วถึงนั่นเอง

ซึ่งการที่เราต้องการให้เศรษฐกิจโตอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ต้องให้โตอย่างยั่งยืนด้วย นั่นคือ ต้องรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน หรือที่เรียกว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (sustainable economic growth) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ธปท. ชี้ว่า ต้องมีการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความสามารถหรือศักยภาพการผลิตของประเทศ ซึ่งช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว นั่นเอง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ