“เงินบาท”แข็งค่า มีผลกระทบอย่างไร? กับเรา เมื่อการท่องเที่ยว สินค้าส่งออก กลายเป็นของแพง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“เงินบาท”แข็งค่า มีผลกระทบอย่างไร? กับเรา เมื่อการท่องเที่ยว สินค้าส่งออก กลายเป็นของแพง

Date Time: 26 ก.ย. 2567 09:52 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • สรุป ผลกระทบ "ค่าเงินบาท" แข็งค่า เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจไทย และ ชาวบ้านอย่างเราอย่างไร ? เมื่อการท่องเที่ยว และ สินค้าส่งออก กลายเป็นของ “ราคาแพง”ในสายตาต่างชาติ

Latest


ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ จนทำให้ “เงินบาท” ของไทยขึ้นแท่นเป็นสกุลที่มีค่าเงินแข็งขึ้นมากที่สุดในโลก ขณะวานนี้ เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นจนไปแตะระดับ 32.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 เดือน (ตั้งแต่ มี.ค. 2565) และหากนับตั้งแต่ต้นปี บาทไทยปรับแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 3.8%

เทียบการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินต่าง ๆ (ปี 2567)

  • มาเลเซีย 11%
  • ไทย 3.8%
  • สิงคโปร์ 2.2%
  • อินโดนีเซีย 1.5%
  • จีน 1.1%
  • อินเดีย -0.6%
  • ฟิลิปปินส์ -1.3%
  • เวียดนาม -1.4%
  • ญี่ปุ่น -2.5%
  • เกาหลีใต้ -3.5%
  • ไต้หวัน -3.9%

ก่อนเช้านี้ เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บนความกังวลที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของค่าเงินบาทมากขึ้น หลังมีแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก กดดันค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง เกิดแรงขายดอลลาร์ ซื้อบาท

นำมาสู่เอกชนตั้งโต๊ะแถลง เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนจนแรงเกินไป เนื่องจากมีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการ และการท่องเที่ยว ที่หากนักท่องเที่ยวต้องจ่ายแพงขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็จะน้อยลง หนักสุดคือภาคการส่งออกที่อยู่ในจุดเปราะบาง ส่งออกแพง แข่งขันยาก เทียบหากค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น 1 บาท ราคาข้าวไทยจะมีราคาเพิ่มขึ้น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งอาจพลาดท่าให้กับเวียดนามเพิ่มขึ้นอีก

บนคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ว่า ทุก ๆ การแข็งค่าของเงินบาท 1% จะกระทบรายได้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.5% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ธปท. ออกมาระบุว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ

เงินบาทแข็งค่า มีผลกระทบอย่างไร?

ตามทฤษฎีทั่วไป เป็นที่รับรู้กันว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่มากเกินไป คือ การทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ จากต่างประเทศเมื่อคิดเป็นเงินบาทก็จะถูกลง มีการนำเข้ามากขึ้น

แต่ขณะเดียวกันการที่เงินบาทแข็งค่าก็จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของเราแพงขึ้นในสายตาของต่างชาติ เมื่อการส่งออกลดลง การนำเข้ามากขึ้น เศรษฐกิจก็จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วยังมีผลกระทบต่อสัดส่วนการทำกำไรของผู้ส่งออก (Margin) ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อยังขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงความยืดหยุ่นในการปรับราคาของแต่ละสินค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งมีระดับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าค้นหาคำตอบมากที่สุด คือ แล้วการแข็งค่าของ “เงินบาท” มีผลกระทบอย่างไรกับชาวบ้านอย่างเราบ้าง?

ในประเด็นนี้ อ้างอิงข้อมูลเผยแพร่ให้ความรู้ของ รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Dr. Nuch Tantisantiwong” ระบุว่า ....

ตลาดส่งออกหลักของไทยไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯ แต่ยังมีจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ฉะนั้น การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินต่าง ๆ ยาวนานต่อเนื่องเช่นนี้ บวกกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงหรืออาจไม่ขยายตัวเลยใน 1-2 ปีนี้ ยิ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทย ด้วย 2 ปัจจัยหลัก ๆ

  • ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกกำหนดราคาในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ เช่น USD, Euro ถึงแม้ราคาในตลาดโลกไม่เปลี่ยน แต่ด้วยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรส่งออกในรูปเงินบาทต่ำลง
  • หากค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นมากเกินไป จะทำให้ลูกค้าต่างชาติชะลอคำสั่งซื้อรอการปรับตัวของค่าเงินบาท เพื่อรอราคาถูกลง

“ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง โดยเฉพาะเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ต่อให้มีการกระจายตลาดส่งออกมากขึ้นก็ไม่ช่วยให้รอดพ้นผลกระทบนี้ได้”

ขณะเดียวกัน ราคาของที่นำเข้ามาส่วนใหญ่ถูกลง อาจจะมีประเด็นคนหิ้วของ brand name เข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% ก็เท่ากับราคาของจากต่างประเทศมีราคาถูกลง 5% ทันที

เงินบาทแข็ง กดเที่ยวไทย จ่ายแพง ต่างชาติอาจเปลี่ยนใจ 

การแข็งค่าของบาทยังมีผลต่อการท่องเที่ยวไทย เพราะการท่องเที่ยวไทยกลายเป็นสินค้าราคาแพงในสายตานักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั่วโลก

ในขณะที่ความแปลกใหม่และความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวไทยและวัฒนธรรมไทย ในสายตานักท่องเที่ยวไม่ได้มีมากไปกว่าประเทศเปิดใหม่ อย่างพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่มีค่าเงินถูกกว่าเงินบาท หมายถึงการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าไทย นักท่องเที่ยวก็จะหันไปเที่ยวประเทศอื่น

“ทุกวันนี้ การท่องเที่ยวของไทยทำรายได้ให้กับประเทศและชุมชนในพื้นที่ได้จำกัด จำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโต แต่รายได้ของร้านค้า ร้านอาหาร ลดลง การจ้างงานลดลง และเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบลดลง”

สำหรับคนไทยที่ทำงานให้กับองค์กรนานาชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือแรงงานไทยในต่างประเทศ (ตัวเราเองและเพื่อน ๆ ที่อยู่ต่างประเทศ) ที่รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนในรูปสกุลเงินต่างประเทศ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็เท่ากับได้เงินเดือนลดลง เงินบาทที่ส่งกลับบ้านก็ลดลง

“บริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและต้องจ่ายค่าตอบแทนในรูปเงินบาท ก็มีต้นทุนแรงงานสูงขึ้น นี่ขนาดยังไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าทนรับไม่ไหว พวกนี้ก็อาจจะต้องย้ายฐานไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ที่นอกจากค่าแรงจะต่ำกว่า ค่าเงินก็ถูกกว่า”

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.นงนุช กล่าวว่า ข้อดีของค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นก็มีไม่น้อย เช่น ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในก่อสร้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐลดลง รวมถึงลดความรุนแรงของผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น

อีกทั้ง แม้ ธปท. จะไม่เข้าแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ค่าเงินบาทเองก็มีแนวโน้มอ่อนลงในอนาคตอยู่แล้ว เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่าเกินไป และการส่งออกหดตัว (เทียบสถานการณ์ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง) เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัว ด้วยหลายเหตุผล

ส่วนค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เมื่อผู้บริโภค ลูกค้าในต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มมองเห็นถึงความแพงเกินไปของสินค้า ก็จะเริ่มมีการปรับตัว คือมีคำสั่งซื้อสินค้าไทยน้อยลง และหาสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินถูกกว่า ค่าจ้างต่ำกว่า ต้นทุนวัตถุดิบของอาหารที่ถูกกว่า หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะหันไปเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความเป็น unseen และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าไทยน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนตัวลงในที่สุด.

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ