ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์กระทบไทย แนะเหยียบเรือ 2 แคมถือข้างทั้งจีน-สหรัฐฯ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์กระทบไทย แนะเหยียบเรือ 2 แคมถือข้างทั้งจีน-สหรัฐฯ

Date Time: 24 ก.ย. 2567 08:50 น.

Summary

  • สศช.เปิด 8 ผลกระทบต่อไทยจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก “ศุภวุฒิ” ชี้ต้องประเมินให้ดีจะอยู่ข้างจีนหรือสหรัฐฯ เพราะวิเคราะห์ยากใครชนะ แนะเหยียบเรือ 2 แคม ส่วน “เบญจรงค์” เผยคนผ่อนบ้านได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครนแล้ว

Latest

เช็กแอปฯ "รัฐจ่าย" ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับเงิน 24 ก.ย.นี้ เปิดเงื่อนไขที่นี่

สศช.เปิด 8 ผลกระทบต่อไทยจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก “ศุภวุฒิ” ชี้ต้องประเมินให้ดีจะอยู่ข้างจีนหรือสหรัฐฯ เพราะวิเคราะห์ยากใครชนะ แนะเหยียบเรือ 2 แคม ส่วน “เบญจรงค์” เผยคนผ่อนบ้านได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครนแล้ว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายในงานประชุมประจำปี 67 เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)” ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกมีผลต่อไทย ประกอบด้วย

1.สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสหรัฐฯออกมาตรการกีดกันทางการค้า โดยใช้เทคนิคและวิทยาศาสตร์ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ส่วนจีนได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้สหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

2.สหรัฐฯมีมาตรการเฉพาะเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่น ส่งผลให้สงครามการค้าก้าวไปสู่สงครามเทคโนโลยี และขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

3.การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกเข้มข้นมากขึ้น ประเทศต่างๆย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือพันธมิตร เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรปลดลงมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและ BRICS (กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ฯลฯ) เพิ่มขึ้น ขณะที่บางกลุ่มประเทศยังมีเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ไทยลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายในการกำหนดนโยบายของไทย

4.การแย่งชิงแรงงานที่มีทักษะสูง

5.วิกฤติผู้อพยพจากความไม่สงบในเมียนมา

6.ความมั่นคงทางอาหาร ประเทศต่างๆอาจใช้อาหารเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

7.ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งไทยต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน หาแหล่งทรัพยากรพลังงานใหม่ๆในประเทศ

8.การแย่งชิงน้ำ

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไป สหรัฐฯมีความมั่นคงทางทหารสูง มีฐานทัพ 56 ประเทศ ขณะที่จีนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีคู่ค้า 128 ประเทศ จัดทำเส้นทางสายไหม ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน 140 ประเทศ ใช้เงินถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯใน 10 ปีที่ผ่านมา และกำลังผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้เทียบเท่าด้านการทหารและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ อีกทั้งยังกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และไทยสามารถได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน เนื่องจากจีนผลิตได้เพียง 60% ของความต้องการ “ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประเมินยากว่าใครจะชนะ ไทยต้องประเมินให้เหมาะสมที่สุด อาจจะเหยียบเรือ 2 แคม ต้องอยู่ในสถานะที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร”

ส่วนนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อคนผ่อนบ้านในไทยโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และความขัดแย้งไม่รู้เมื่อใดจะจบ คงอยู่กับเราไปอีกนานมาก และจะกระทบเศรษฐกิจไทยนานเท่าใด ไม่มีใครทราบ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ