นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากที่กรมได้ออกมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในเฟสแรก 3.0 และ เฟสสอง 3.5 ทำให้ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการทยอยตั้งฐานการผลิตในประเทศรวมกว่า 80,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการดังกล่าวกำหนดว่า ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตรถยนต์อีวีชดเชยการนำเข้า 1 เท่าของยอดขายในปีแรก และหากไม่ได้ผลิตชดเชยในไทยได้ทันในปีที่ 2 จะต้องผลิตเพื่อชดเชยเป็น 1.5 เท่า ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในไทยภายในปี 69
ส่วนยอดการจัดเก็บภาษีรถยนต์ในปัจจุบัน ลดลงราว 30% เพราะยอดการผลิตและการขายที่ลดลง รวมถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์อีวี โดยการจัดเก็บภาษีรถยนต์เป็นหนึ่งใน 5 รายการสินค้าในพิกัดกรมสรรพสามิตที่จัดเก็บรายได้มากที่สุด
ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกของไทย ของบริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด จากเกาหลีใต้ ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. หลังจากที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อเดือน ก.พ.67 และบริษัทได้ดำเนินการออกบัตรส่งเสริมเมื่อเดือน ส.ค.67 โดยเตรียมเริ่มก่อสร้างโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ภายในเดือน ธ.ค.67 และน่าจะผลิตได้จริงไตรมาส 1 ปี 70 โดยมีมูลค่าลงทุน 11,500 ล้านบาท
“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ที่ผ่านมาบทบาทของไทยอยู่ในขั้นกลางน้ำ คือ รับจ้างประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เรียกว่า OSAT”
โดยโครงการนี้ เป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อการยกระดับไทยไปสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ นอกจากจะช่วยสร้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังจะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้ดึงดูดผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายอื่นๆให้เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่