เจาะต้นตอหนี้คนไทย ไม่ใช่แค่ “ขาดวินัย” ทางการเงิน แต่แบงก์ ชวนกู้ ไม่หยุด ตัวกระตุ้นคนก่อหนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะต้นตอหนี้คนไทย ไม่ใช่แค่ “ขาดวินัย” ทางการเงิน แต่แบงก์ ชวนกู้ ไม่หยุด ตัวกระตุ้นคนก่อหนี้

Date Time: 23 ก.ย. 2567 11:17 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • เจาะต้นตอปัญหาปัญหา “หนี้ครัวเรือน“ คนไทยมีหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท ส่วนใหญ่กู้ใช้จ่ายค่าอุปโภคบริโภค ลูกหนี้ไม่ได้แค่ “ขาดวินัย” ทางการเงิน แต่รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย สวัสดิการไม่เพียงพอ
  • แบงก์ชวนกู้ไม่หยุด กระตุ้นคนก่อหนี้เกินตัว

Latest


คนไทยกับหนี้ก็เป็นของคู่กัน ยิ่งเวลาผ่านไป คนไทยยิ่งมีหนี้สินยิ่งล้นพ้นตัว เพราะติดกับดัก “สภาพคล่อง” คนทั่วไปจึงนิยมกู้เงินในอนาคตเพื่อมาโปะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มากกว่าที่จะกู้เงินมาต่อยอดทำธุรกิจสร้างรายได้ให้ตัวเอง ซึ่งรากของปัญหาสังคมมักจะโทษว่าเกิดจากคนไทยส่วนใหญ่ “ขาดวินัย” ทางการเงิน
แต่ความจริงแล้ว “สถาบัน" ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ก็มีส่วนผลักดันให้ “หนี้ครัวเรือนไทย” มาถึงจุดวิกฤติในปัจจุบัน


แต่ก่อนจะไปทำความเข้าใจต้นตอของปัญหาหนี้ในสังคมไทย เราไปอัปเดตสถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุดกันก่อน


หนี้ครัวเรือนไทย รุนแรงแค่ไหน

หนี้ครัวเรือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ต่อ GDP ซึ่งมาพร้อมกับภาวะการเงินของครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ มีปริมาณหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่มีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ครัวเรือนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ที่ต้องก่อหนี้ในช่วงที่ขาดรายได้จากวิกฤติโควิด กำลังเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากรายได้อาจยังไม่ฟื้นตัวดี ในขณะที่มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ

ความเปราะบางทางการเงินของคนไทย ทำให้บรรดาสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จนคนทั่วไปเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ยากขึ้น ประกอบกับคนเริ่มขาดสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น สุดท้ายหนี้ธรรมดาจึงไหลมาเป็นหนี้เสียมากขึ้น กลายเป็นปัญหางูกินหางไม่รู้จบ


ต้นตอ ปัญหาหนี้ของคนไทย

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า "ปัญหาหนี้" ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เกิดได้จากทั้ง behavioral bias หรือข้อจำกัดในการตัดสินใจของคน และจากสถาบันที่ไม่เอื้อให้คนคิดถึงผลประโยชน์ในอนาคตอย่างเพียงพอ

โดยหนึ่งใน behavioral bias ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจก่อหนี้ของคนไทย คือ present bias หรือการให้ความสำคัญกับความสุขในปัจจุบันมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดวินัยและก่อให้เกิดปัญหาหนี้ตามมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานนั้น ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่แพงขึ้นเรื่อยๆ จรหลายคนแทบเอาตัวไม่รอด จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่จะถอดใจวางแผนการเงินในอนาคต เช่น การออมเพื่อเกษียณ การแบ่งเงินไปลงทุน แล้วเลือกซื้อความสุขในวันนี้แทน


นอกจากนี้สภาพแวดล้อม “สถาบัน" ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ไม่เอื้อให้คิดถึงผลประโยชน์ในอนาคต ยังเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้คนไทยเลือกมองหาความสุขระยะสั้น

เศรษฐกิจ

การใช้จ่ายเกินตัว เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนไทยมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และขาดระบบโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ที่ดีพอ ทำให้คนก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพิงสินเชื่อ

ระบบการเงิน

วัฒนธรรมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน(credit culture) กระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัว โดยในช่วงที่ผ่านมา เรามักจะเห็นโฆษณาชวนกู้ ที่ใช้ข้อความเชิญชวนหลายรูปแบบ ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ รวมถึงการหย่อนมาตรฐานการให้สินเชื่อทำให้สินเชื่อบางประเภทเข้าถึงง่ายเกินไป นอกจากนี้การขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อที่เพียงพอ ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ได้

นโยบาย

นโยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาครัฐ ที่กลายเป็นดาบสองคม เน้นแก้ปัญหาระยะสั้น แต่กระตุ้นให้ขาดวินัยทางการเงินจนก่อหนี้ระยะ เช่น นโยบายรถคันแรกในรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนโยบายพักหนี้เกษตรกร

สังคม

ค่านิยมของสังคมที่เชิดชูวัตถุนิยม และตัดสินคนที่ประสบความสำเร็จจากฐานะ

จะเห็นได้ว่าการที่ทุกภาคส่วน ขาดการมองระยะยาว เน้นปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น เป็นต้นตอที่ผลักดันให้คนไทยนิยมกู้เงินในอนาคตมาใช้จ่ายโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งกลายเป็นกับดักหนี้ที่ฉุดรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ ย้อนกลับมาฉุดรั้งการเติบโตของรายได้ จนต้องไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพาสินเชื่อ ดังนั้น ทางแก้ “ปัญหาหนี้” จึงจำเป็นต้องประกอบไปด้วยการแก้ในทั้งสองส่วนนี้

แก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องเอา “ลูกหนี้” เป็นตัวตั้ง

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ เป็นผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การจะปลดกับดักหนี้ให้คนไทยอย่างยั่งยืน ต้องออกแบบมาตรการโดยมีลูกหนี้เป็นตัวตั้ง เน้นแก้ปัญหาให้ตรงจุดและตรงกลุ่ม ผ่าน 3 นโยบาย ดังนี้

1.แก้หนี้เดิม ตรงจุด ตรงกลุ่ม ด้วยการสร้างวินัยการชำระ ปรับโครงสร้างหนี้ และพัฒนากลไกไกลเกลี่ย หรือฟื้นฟูหนี้แบบครบวงจร เพื่อให้ลูกหนี้ล้มแล้วลุกได้เร็ว
2.ปล่อยหนี้ใหม่ยั่งยืนทุกกลุ่ม โดยเจ้าหนี้มีหน้าที่ส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าถึงข้อมูลประกอบการเข้าถึงสินเชื่ออย่างรอบด้าน
3.ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างรายได้ ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม

ทั้งนี้การจะไปถึงเป้าหมายการปลดกับดักหนี้ได้นั้น มี 3 โจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตก

1.การขยาย Scale ทำอย่างไรให้นโยบายแก้หนี้เข้าถึงลูกหนี้ทุกกลุ่มเป็นวงกว้าง และจูงใจให้ลูกหนี้ตัดสินใจเข้าร่วม
2.สร้าง Impact จะปรับใช้นโยบายอย่างไรให้ได้ผลและตรงความต้องการลูกหนี้ทุกกลุ่ม
3.Sustainable แก้หนี้อย่างไรให้ยั่งยืน โดยไม่ทำให้ลูกหนี้กลับมาในวงจรหนี้อีก

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์