หวั่นใช้หาเสียงเลยเถิด นายจ้างชี้ประชุมค่าแรง 400 บาทล่มแปลกๆ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หวั่นใช้หาเสียงเลยเถิด นายจ้างชี้ประชุมค่าแรง 400 บาทล่มแปลกๆ

Date Time: 23 ก.ย. 2567 08:45 น.

Summary

  • “อีคอนไทย” มึนผลประชุมขึ้นค่าแรงล่าสุดล่มไม่เป็นท่า รอผลประชุม 24 ก.ย. ชี้หากขึ้น 400 บาทต่อวัน เลือกตั้งรอบหน้าอาจเห็นพรรคการเมืองหาเสียงค่าแรงไปทะลัก 1,000-2,000 บาทต่อวัน

Latest

เจาะต้นต่อหนี้คนไทย ไม่ใช่แค่ “ขาดวินัย” ทางการเงิน แต่แบงก์ ชวนกู้ ไม่หยุด ตัวกระตุ้นคนก่อหนี้

“อีคอนไทย” มึนผลประชุมขึ้นค่าแรงล่าสุดล่มไม่เป็นท่า รอผลประชุม 24 ก.ย. ชี้หากขึ้น 400 บาทต่อวัน เลือกตั้งรอบหน้าอาจเห็นพรรคการเมืองหาเสียงค่าแรงไปทะลัก 1,000-2,000 บาทต่อวัน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงผลประชุมค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท รอบที่ 2 ล่มลงเพราะองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจาก ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลทั้ง 4 คน และตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 2 คน ไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้ไม่สามารถพิจารณาการปรับค่าจ้าง และต้องเลื่อนประชุมไปเป็นวันที่ 24 ก.ย.นี้

สำหรับประเด็นที่น่าแปลกใจเมื่อตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ไม่เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะผู้แทนที่มาจากกระทรวงแรงงาน คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลากิจตรงกัน แต่คงมีการส่งสัญญาณบางอย่าง ขณะเดียวกันตัวแทนของฝ่ายลูกจ้าง 2 คน ก็ไม่เข้าร่วมประชุมเช่นกันเป็นภาวะ ที่ไม่ปกติแต่ที่กลับกันคือฝ่ายนายจ้าง ที่ประชุมมาก่อนหน้านี้ ยกทีมลากิจแต่การประชุมรอบนี้มาประชุมกันครบ

“ผมมองว่าบริบทภาคการเมืองเข้ามาครอบงำการปรับค่าจ้าง ไม่ส่งผลดีต่อประเทศ ในระยะยาว ที่จะส่งผลกระทบกับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการลงทุน รวมถึง การส่งออกซึ่งขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และเศรษฐกิจของไทยมีความ อ่อนแอและติดหล่ม แม้แต่หลังโควิด-19 ก็ยังไม่ฟื้นตัว สภาวะดังกล่าว หากมีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด โดยไม่ได้นำปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสามารถของนายจ้างมาเป็นตัวตั้ง”

ตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันประกอบด้วยสถานประกอบการที่จดทะเบียนกว่า 917,916 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทจำกัด และโรงงานอุตสาหกรรม 72,699 แห่ง ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีอยู่ถึง 3.225 ล้านกิจการ แรงงานในระบบมีจำนวน 22.73 ล้านคน ซึ่งแรงงานในประกัน สังคมมาตรา 33 คิดเป็น 12.04 ล้านคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายประมาณ 3.342 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา การปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวราว 2.5 ล้านคน ได้ประโยชน์ แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและการจ้างงานลดลงในระยะยาว

นายธนิตยังตั้งข้อสังเกตว่า หากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้เป็นไปตามแผนของฝ่ายการเมืองที่ตั้งเป้าไว้ที่ 400 บาท และจะเพิ่มเป็น 600 บาทในปีถัดไป อาจส่งผลให้การเมืองในอนาคตนำเรื่องค่าจ้างมาเป็นประเด็นในการหาเสียง ซึ่งอาจเห็นข้อเสนอค่าจ้างวันละ 1,000-2,000 บาท แม้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา การปรับค่าจ้างที่สูงเกินไปอาจทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีน ที่เน้นขายสินค้าราคาถูกในตลาดไทย

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นว่าการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในอนาคต อาจไม่จำเป็นต้องมีองค์ประชุมครบทั้ง 3 ฝ่าย (นายจ้าง-ลูกจ้าง-รัฐบาล) และอาจใช้มติ 2 ใน 3 ในการพิจารณาปรับค่าจ้างได้ แต่ต้องตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่ หากเกิดการปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ อาจทำให้การลงทุนกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจหลัก เช่น กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่จังหวัดห่างไกลอาจไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านขนส่ง

สุดท้ายนายธนิตเสนอว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตอาจสามารถแยกปรับได้ตามประเภทธุรกิจ ขนาดของธุรกิจ หรือแม้แต่ตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทำให้ประเทศไทยมีรูปแบบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากประเทศอื่นๆ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ