วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท. คนใหม่อย่างเป็นทางการว่า การเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท. คนใหม่ ไม่รู้สึกหนักใจแต่อย่างใด แม้ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องเร่งผลักดันตามนโยบายรัฐบาล
ขณะที่ปัจจุบัน รฟท. มีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับอยู่กว่า 230,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงขอเวลา 1 เดือนในการเข้ามาจัดระเบียบ ดูรายละเอียดงานว่า มีส่วนงานไหนบ้างที่ติดขัดปัญหา หรือสามารถนำมาสร้างรายได้ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการและสางหนี้ที่มีอยู่
ส่วนแนวทางแก้หนี้ที่ รฟท. มีอยู่กว่า 230,000 ล้านบาทนั้น ผู้ว่าฯ รฟท. คนใหม่กล่าวว่า มีแนวทางแก้ไขได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องมาดูว่าเป็นหนี้สินประเภทไหนบ้าง มีภาระหนี้สินผูกพันอย่างไร
ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างทางคู่ เฟส 2 อีก 6 เส้นทาง กับทางคู่ เฟส 1 ที่มีการเปิดใช้งานไป ดังนั้น รฟท. ก็สามารถสร้างรายได้จากการบริหารจัดการการใช้รางเพื่อสร้างรายได้ ด้วยการให้เอกชนเข้ามาเช่าเพื่อวิ่งขนสินค้าในช่วงที่ รฟท. ไม่ได้ใช้ราง
พร้อมกับระบุว่า จะนำผลศึกษาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังมาทบทวนและเร่งรัดการลงทุน เนื่องจากโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าให้สะดวกมากขึ้น และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของ รฟท. ที่มีอยู่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟท. ศึกษาหลายพื้นที่ อาทิ ที่ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ดินสถานีมักกะสัน ที่ดิน RCA ที่ดินสถานีธนบุรี และสถานีแม่น้ำ เป็นต้น และยังต้องศึกษาพัฒนาที่ดินริมทางรถไฟให้สามารถสร้างรายได้
“ที่ว่ากันว่าทุกยุคทุกสมัย ผู้ว่าฯ รฟท. ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับสหภาพฯ รฟท. นั้น คาดว่าเร็ว ๆ นี้ ผมจะหารือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. ซึ่งเชื่อว่าไม่มีประเด็น เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์สวัสดิการของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ หวังว่าองค์กร สวัสดิการพนักงานได้รับเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินกว่าที่รัฐจะให้ได้” วีริศ กล่าว