ท่ามกลางกระแส “โลกาภิวัตน์” ที่เชื่อมโยงคนทั่วโลกเข้าด้วยกัน โอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น กระตุ้นให้หลายคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในบ้านเกิด ดั่งวลีที่เขาว่าคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
โดย “ไทย” ถือเป็นดินแดนแห่งความหวังของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่ส่วนใหญ่ลี้ภัยสงครามและความแร้นแค้นในประเทศ มาเป็นแรงงานสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แทนคนไทยที่เกิดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตไปแล้ว ซ้ำร้ายไทยยังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2565 ปัจจุบันไทยจึงพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากถึง 11% ของแรงงานทั้งหมดในระบบประกันสังคม
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำหลังโควิด ศักยภาพการแข่งขันที่ถดถอยลงทุกด้าน ทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจรัดเข็มขัด จ้างงานน้อยลง เพื่อประคองต้นทุนให้อยู่รอด ในช่วงครึ่งปีแรกเราจะเริ่มเห็นสัญญาณความเปราะบางที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานอย่างชัดเจน จากการทยอยปิดโรงงานและกิจการขนาดกลางถึงขนาดเล็ก งานที่หายากขึ้น โดยเฉพาะงานระดับล่างในภาคบริการที่ไม่ต้องการทักษะมากนัก กดดันให้คนไทยบางกลุ่มเกิดความกังวลว่าแรงงานต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเข้ามาแย่งงาน
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ของไทย โตขึ้น 15% จาก 10.2 ล้านคนในปี 2557 เป็น 11.9 ล้านคนในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน) โดยกว่า 55% ของลูกจ้างในระบบที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจำนวนลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทำให้ปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างชาติในระบบทั้งหมด 1.3 ล้านคน
ทั้งนี้แรงงานต่างชาติเริ่มมีจำนวนสูงขึ้นในปี 2560 และชะลอลงในช่วงโควิดระหว่างปี 2562–2563 จนในปี 2565 จำนวนแรงงานต่างชาติในไทยได้ฟื้นตัวกลับมาเท่าระดับก่อนช่วงโควิดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแยกตามรายสัญชาติ พบว่าแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยมากที่สุดเป็น 7 อันดับแรก ณ ปี 2566 ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยแรงงานจากประเทศเมียนมา กัมพูชา ลาว และจีนเพิ่มมากที่สุด ในขณะที่แรงงานจากสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยลง
อย่างไรก็ตามแม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยจะพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาสังคมสูงวัย แต่เมื่อพิจารณาระดับรายได้ จากข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม ปี 2566 จะเห็นว่าแรงงานต่างชาติในระบบ 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่ได้เงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ซึ่ง 89% เป็นแรงงานทักษะต่ำจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่วนแรงงานที่ได้เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทขึ้นไป เป็นแรงงานทักษะกลางถึงสูง ซึ่งมีเพียง 1.5 แสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเมียนมามากที่สุด 27,441 คน ตามมาด้วยแรงงานจีน 23,365 คน และญี่ปุ่น 17,031 คน ชี้ให้เห็นว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งคนไทยในงานที่เน้นทักษะกลางถึงสูงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวทักษะสูงราว 86,830 คน
ทั้งนี้ในอีก 5 ปี (2572) ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี สัดส่วนมากกว่า 20% สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองว่า ท่ามกลางปัญหาสังคมสูงวัย และอัตราเฉลี่ยการเพิ่มของแรงงานไทยในระบบอยู่ที่ 0.81% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตเราอาจต้องมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยต้องมีการปรับตัวเชิงนโยบาย เช่น การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติให้ครอบคลุมเพื่อป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจตามมา หรือให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติมาทำงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น
ที่มา
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney