นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากกรณีกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล และกำหนดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังได้รับการติดต่อจากกระทรวงคมนาคม ผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวคิดดังกล่าวแล้ว และจะนัดหารือกันเพื่อหาแนวทางการผลักดันต่อไป โดยแนวคิดนี้กระทรวงการคลังเชื่อว่าสามารถทำได้ในการตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาเพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนมาเป็นทรัพย์สินของรัฐ แต่ต้องหารือรายละเอียดกันอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักการแนวคิดดังกล่าวกระทรวงคลังจะตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา เป็นกองทุนรวมระยะยาว และเปิดขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนหรือนักลงทุนสถาบัน เพื่อนำเงินไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายที่เป็นของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ จากนั้นให้นำรายได้และกำไรจากค่าโดยสาร มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้นักลงทุน คาดการณ์ว่ารัฐจะใช้เงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาทั้งหมด 7 โครงการ อาจต้องใช้เงินมากกว่า 500,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักหรือบีทีเอส ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มูลค่า 50,000 ล้านบาท สายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 27,000 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ 115,000 ล้านบาท สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค 81,000 ล้านบาท สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 48,000 ล้านบาท สายสีชมพู 51,000 ล้านบาท และสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี 140,000 ล้านบาท อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังมีแนวคิดจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด โดยกำลังศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมและนำรายได้ค่าธรรมเนียมส่งเข้ากองทุนนี้ด้วย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่