นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก...Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” ระบุ ประเทศไทยไม่สามารถเติบโตในรูปแบบเดิมได้อีกแล้ว จาก 3 เรื่องคือ
1.การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ช่วง 10 ปี แม้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มั่งคั่งขึ้น แม้แต่คนในเมืองยังมีรายได้โตแค่ 0.22%
2.การเติบโตมีการกระจุกตัวสูงในภาคธุรกิจ โดยธุรกิจรายใหญ่ ที่มีสัดส่วน 5% ของธุรกิจรวม แต่กลับมีรายได้มากถึง 80-90% ของรายได้รวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ที่ 84-85% ส่วนธุรกิจตัวเล็กหรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการปิดกิจการมากขึ้น
3.ไทยพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ยากขึ้น สัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันแทบไม่เพิ่มขึ้น และเงินเทไปที่เวียดนามและอินโดนีเซีย
“ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของจีดีพี อาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคนที่ดีขึ้น การเติบโตแบบใหม่ที่เราต้องการ คือ การเพิ่มการเติบโตของท้องถิ่นในพื้นที่เหมาะสม โตแบบแข่งขันได้และเป็นสากล คือโตไปกับโลก ซึ่งการจะพัฒนาท้องถิ่น จะต้องเน้นกระจายความเจริญที่มีคุณภาพ ในพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาได้ ไม่ใช่การไปพัฒนาสร้างเศรษฐกิจพิเศษ แต่เป็นโซนที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการลงทุนจริงแค่ 0.5% ของมูลค่าที่คาดไว้ การสร้างท้องถิ่นที่ “ใช่” ต้องทำให้เป็นสากล ใช้เอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น การสร้างสินค้าจีไอ (GI) ที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แล้วเชื่อมกับตลาดโลกผ่านทางการขายออนไลน์ ให้ตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win”
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้การอุดหนุนเงินให้กับคนรายได้น้อยเพื่อให้ยังชีพได้และพ้นจากเส้นยากจน ทำให้ดูเหมือนว่าคนจนของไทยลดลง แต่จริงๆแล้ว หากไม่มีเงินช่วยเหลือ คนไทยจำนวนมากจะอยู่ไม่ได้ นอกจากนั้น หากพิจารณาครัวเรือนที่รัฐบาลอุดหนุนอยู่ในขณะนี้ ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ทำให้รัฐต้องอุดหนุนเงินไปตลอดชีพ ซึ่งในแต่ละปีรัฐใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท “สิ่งที่ควรทำคือปรับเปลี่ยนทัศนคติ หาความช่วยเหลือที่เหมาะสม ปลดปล่อยพลังของชุมชนให้สามารถยืนบนขาของตัวเอง โดยเข้าไปช่วยเหลือด้านการสร้างการออม แก้หนี้สิน การรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน”
โดยเริ่มจากการแก้หนี้สินนอกระบบ ต่อมาคือการสร้างตลาดให้กับสินค้าโดยลดคนกลางให้เหลือน้อยที่สุด สร้างสุขภาพที่ดี ลดรายจ่ายในการรักษาพยาบาล สร้างผู้นำชุนชนที่แข็งแกร่ง และพันธมิตรเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่