ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2567 ประเทศไทยมีสถานะ “หนี้สาธารณะ” คงค้างจำนวน 11,191,589.57 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.23% ของ GDP ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ต่อ GDP
ท่ามกลางความกังวลว่าการก่อหนี้รอบใหม่เพื่อนำมาใช้ในโครงการ “เงินดิจิทัล” 10,000 บาทของรัฐบาลชุดใหม่จะทำให้คนไทยแบกหนี้ร่วมกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและชนเพดานหนี้เร็วขึ้น ซึ่งอาจกระทบพื้นที่การคลังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้
โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกรายงานเศรษฐกิจไทย ประเมินข้อจำกัดภายหลังรัฐบาลใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ประกาศเดินหน้ามาตรการแจกเงิน 10,000 บาท บรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วน
ว่าหากประเมินจาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 มีแนวโน้มจะประกาศใช้ได้ตามกำหนด ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เริ่มปีงบประมาณวันที่ 1 ต.ค. 2567 จะมีผลทำให้ข้อจำกัดในการเดินหน้าโครงการแจกเงินน้อยลง
รวมวงเงินทั้ง 2 ระยะ ราว 450,000 ล้านบาท
โดย SCB EIC ประเมินว่า หากภาครัฐสามารถดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยแบ่งใช้วงเงินเป็น 2 ระยะได้ตามแผนล่าสุดนั้น จะช่วยสนับสนุน GDP ปี 2568 ราว 0.5-0.7% ภายใต้คาดการณ์ว่า ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำราว 2.6% เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ดี โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้วงเงินสูงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดประเมินไว้ก่อนหน้าราว 1 ปี
“SCB EIC ประเมินว่าหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70% ของ GDP ช่วงปี 2569-2570 ซึ่งเร็วกว่าประมาณการเดิม 1 ปี ผลจากประมาณการ GDP ต่ำลง ส่งผลให้ข้อจำกัดการคลังของไทยปรับสูงขึ้น”
“จุดกลับตัวของหนี้สูงขึ้นและเลื่อนเวลาออกไป จึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถกลับตัวได้จริง”
ที่มา : กระทรวงการคลัง ,พรรคเพื่อไทย ,SCB EIC