น้ำท่วมเชียงรายไล่ทุบเศรษฐกิจ เสียหายไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน-หวั่นซ้ำเติมกำลังซื้อยิ่งทรุดหนัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

น้ำท่วมเชียงรายไล่ทุบเศรษฐกิจ เสียหายไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน-หวั่นซ้ำเติมกำลังซื้อยิ่งทรุดหนัก

Date Time: 13 ก.ย. 2567 08:29 น.

Summary

  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดน้ำท่วม “เชียงราย” ทำเศรษฐกิจเสียหาย 1 หมื่นล้านบาท จากการเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว ขณะที่ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์จับตาน้ำท่วมซ้ำเติมกำลังซื้อคนไทยที่ลดลงอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น

Latest

วันนี้เคาะแจกเงินหมื่น "ดิจิทัลวอลเล็ต" เฟสแรก “พิชัย” คาดกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้าใช้เงิน 3 แสนล้าน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดน้ำท่วม “เชียงราย” ทำเศรษฐกิจเสียหาย 1 หมื่นล้านบาท จากการเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว ขณะที่ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์จับตาน้ำท่วมซ้ำเติมกำลังซื้อคนไทยที่ลดลงอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงราย และอีกหลายพื้นที่ว่า น้ำท่วมที่เชียงราย ซึ่งเป็นลักษณะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่เกิดน้ำท่วมใน 8 จังหวัด เช่น แพร่ น่าน ฯลฯ และคาดไว้ว่าจะเกิดความเสียหาย 6,000-8,000 ล้านบาท

สำหรับความเสียหายดังกล่าว ประเมินจากความเสียหายที่มีต่อทรัพย์ของประชาชน ภาคธุรกิจ และราชการ, ความเสียหายของพ่อค้าแม่ค้าตามแนวชายแดน เพราะบริเวณที่น้ำท่วม เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้การค้าขายไม่สะดวก, การเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว เพราะประชาชนที่เห็นภาพข่าวจะชะลอการเที่ยวเชียงราย ทำให้ภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ส่วนภาคการเกษตร อาจได้รับผลกระทบน้อย เพราะน้ำท่วมครั้งนี้เป็นลักษณะน้ำป่าไหลหลาก ไม่ได้เป็นน้ำท่วมขังนานนับเดือน และคาดว่าหลังน้ำท่วมคลี่คลายแล้ว รัฐบาลจะเร่งฟื้นฟู เยียวยาประชาชน

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ไม่น่าเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54 เพราะดูจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนของปีนี้ยังน้อยกว่าปี 54 พายุที่จะพัดเข้ามาก็น้อยกว่า อีกทั้งอัตราการระบายน้ำออกจากเขื่อนต่อวินาที หรือการพร่องน้ำยังไม่เร็วมากนัก รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆยังมีน้อย และมีความจุอ่างที่ยังรองรับน้ำได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อปีหน้าที่จะมีน้ำสำรองไว้ใช้ปริมาณมาก

“ความเสียหายระดับหมื่นล้านบาท จะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะจะมีเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะแจกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนกว่า 14.5 ล้านคน ภายในเดือน ก.ย.นี้ เข้ามาชดเชย และคาดว่าเงินดิจิทัลจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ 2.6-2.8% และโน้มมาทาง 2.8% ได้”

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในขณะนี้ SCB EIC กำลังจับตาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในภาคเหนือ และต่อเนื่องลงมาในภาคกลาง เนื่องจากกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม และซ้ำเติมการใช้จ่ายของประชาชนที่ชะลอตัวลง เพราะน้ำท่วมในครั้งนี้ต่างจากหลายๆปีที่ผ่านมา เพราะกระทบกับเศรษฐกิจในตัวเมือง เช่น เมืองเชียงราย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทะลักของน้ำเข้าตัวเมืองเพิ่งเกิดขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาอีกระยะในการประเมินความเสียหายของบ้านเรือน และภาคการค้า โดยเบื้องต้น ตั้งแต่น้ำท่วมในเดือน ส.ค.จนถึงขณะนี้ ประเมินว่ากระทบต่อภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าว ที่มีความสามารถทนต่อน้ำท่วมได้ประมาณ 3-5 วันแล้วทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผลกระทบเพิ่มขึ้นจากนี้ เมื่อรวมความเสียหายจากบ้านเรือน และภาคการค้าที่เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนั้นยังต้องจับตาสถานการณ์น้ำในอนาคตด้วย เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่สภาพภูมิอากาศผันผวนรุนแรงกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา

“หากจะถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 54 หรือไม่ ในขณะนี้โอกาสที่จะเกิดความเสียหายรุนแรงเช่นนั้น ยังคงมีน้อย และผมหวังอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้นแบบนั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายๆอย่าง ทำให้ปีนี้ภูมิอากาศโลกมีความผันผวนสูงมาก ทำให้ต้องจับตาและดูแลบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 14/2567 แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 12-16 ก.ย.2567 ดังนี้ 1.จ.เชียงราย บริเวณสถานีเชียงแสน อ.เชียงแสน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.50-0.70 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.40 เมตร 2.จ.เลย บริเวณสถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.00-3.60 เมตร และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 0.50-1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13-16 กันยายน 2567

3.จ.หนองคาย บริเวณสถานีหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย และ จ.บึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.50-3.90 เมตร และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 1.50-2.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13-16 กันยายน 2567 4.จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00-2.60 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 0.50-1.30 เมตร.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ