ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ "วิกฤติที่อยู่อาศัย" ทั้งราคาบ้านและค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กำลังซื้อที่ลดลง ท่ามกลางดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่แพงขึ้น กดดันภาระต้นทุนทั้งคนที่อยากมีบ้าน และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ลามฉุดรั้งเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว
ผลสำรวจโดย Gallup Analytics ซึ่งทำการสำรวจประชากร 37,000 คน ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD พบว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรไม่พอใจกับความพร้อมด้านที่อยู่อาศัย หลังโควิดประเทศพัฒนาแล้วมีความไม่พอใจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2567 เยอรมนีมีสัดส่วนผู้ไม่พอใจกับความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยที่ราคาจับต้องได้เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 46% เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2566 และมากกว่าสองเท่าจากระดับในปี 2555 เช่นเดียวกับสเปน ที่สัดส่วนของผู้ไม่พอใจเพิ่มขึ้นเป็น 62% สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤติการเงิน
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี และคนที่มีอายุระหว่าง 30-49 ปี เป็นกลุ่มที่มีความไม่พอใจด้านที่อยู่อาศัยสูงสุด โดยสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 55% และ 56% ตามลำดับ ในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 44% ทั้งนี้ วิกฤติราคาที่อยู่อาศัยมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนซัพพลาย เนื่องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชะลอการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และหันมาจับกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น สร้างแรงกดดันด้านราคาสำหรับที่อยู่อาศัยระดับกลางและระดับล่างที่มีความต้องการมาก
แม้อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะช่วยดึงราคาที่อยู่อาศัยในหลายประเทศของยุโรปให้ลดลงมา แต่ระดับราคาปัจจุบันก็ยังแพงกว่าช่วงก่อนโควิด เช่นเดียวกับค่าเช่าที่ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างประเทศอังกฤษที่ปัจจุบันราคาบ้านแพงกว่าค่าแรงทั้งปีถึง 8 เท่า ผลักดันให้จำนวนคนเช่าที่อยู่อาศัยพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สหรัฐฯ ราคาบ้านเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเกือบ 38% แพงกว่าตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งในปี 2021 นอกจากความไม่พอใจเรื่องบ้านแล้ว 30% ของประชากรในประเทศร่ำรวยยังไม่พอใจกับระบบการดูแลสุขภาพ การศึกษา และการขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้ความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตลดลง โดยมีสัดส่วนผู้ไม่พอใจเพิ่มขึ้นเป็น 25%
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney