แม้เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำ แต่เดอะแบกทางเศรษฐกิจอย่าง “ภาคการท่องเที่ยว” ครึ่งแรกของปี 2567 นับว่าโตแรงเกินคาด จากมาตรการฟรีวีซ่า เทศกาลสงกรานต์และบิ๊กอีเวนต์ต่างๆ แม้นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่ฟื้นกลับมาเท่าระดับก่อนโควิดก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 แม้ความร้อนแรงจะชะลอลงเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่แรงส่งยังแข็งแกร่ง ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 1 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 23 ล้านคน กวาดรายได้ไปแล้ว 1.1 ล้านล้านบาท หากแรงส่งยังดีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้มีลุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะเป้าหมายที่ 36 ล้านคน เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ในช่วงครึ่งปีแรก และมีลุ้นรายได้ปี 2567 ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด
Krungthai COMPASS ประเมินว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมในปี 2567-2568 จะมีมูลค่า 9 แสนล้านบาท และ 9.6 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่อัตราการเข้าพัก (OR) และราคาห้องพัก (ADR) ที่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงปี 2562 แล้ว ส่งผลให้รายได้รวมของธุรกิจโรงแรมในปี 2567 มีแนวโน้มกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด
แม้ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จะฟื้นตัวได้เพียง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 แต่อัตราเข้าพัก (OR) ฟื้นตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยมีค่าเฉลี่ยในระดับ 72.6% ขณะที่ราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ย (ADR) ก็สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 9% ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,920 บาทต่อห้อง สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวหลังโควิด ที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นหลัก และมีค่าใช้จ่ายค่าที่พักสูงขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่เดินทางเข้าพักเพิ่มขึ้น และพำนักในไทยนานกว่านักท่องเที่ยวจีนถึง 2 เท่า เมื่อเทียบจากช่วงปี 2562 ส่งผลให้ OR และ ADR ของโรงแรมในภาคใต้มีการฟื้นตัวที่โดดเด่น และเป็นภูมิภาคเดียวที่ OR กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของการปรับขึ้นราคาห้องพักและรายได้จากค่าที่พัก โรงแรมในกลุ่ม 3 ดาวลงไป ยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าโรงแรมระดับบน เนื่องจากยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากจำนวนห้องพักที่ค่อนข้างล้นตลาด อีกทั้งกลุ่มลูกค้าหลักอย่างกลุ่ม Backpacker และกรุ๊ปทัวร์ ยังฟื้นตัวได้จำกัด รวมถึงปัจจุบันผู้บริโภคยังมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น Airbnb
ปัจจุบันจำนวนห้องพักของธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุด ณ ก.ค. 2567 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนห้องพักในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตมากถึง 6.9 แสนห้อง ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ประมาณ 20.2% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเพชรบุรี ที่จำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 26%-36% เมื่อเทียบกับปี 2562 และซึ่งจะทำให้การแข่งขันของโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ในช่วง 1-2 ปีนี้จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
เมื่อเทียบกับอาเซียน พบว่า การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในไทยค่อนข้างสูง สะท้อนจากดัชนี The Travel & Tourism Development Index 2024 ที่ระบุว่าไทยมีจำนวนห้องพักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนถึง 52% สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมโอเชียเนีย) เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์เท่านั้น โดยสัดส่วนห้องพักของไทยอยู่ที่ 1.12 ห้อง/จำนวนประชากร 100 คน ขณะที่สัดส่วนห้องพักเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 0.60 ห้อง/จำนวนประชากร 100 คน เท่านั้น
Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังไทยในปี 2567-2568 จะอยู่ที่ 7.5 และ 9.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัวราว 68% และ 87% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวต่ำ ส่งผลให้ชาวจีนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นให้ชาวจีนท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก
ประกอบหลังโควิด นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยยุค ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเองเป็นหลัก ทำให้นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนซึ่งถือเป็นตลาดหลักของโรงแรมในระดับไม่เกิน 3 ดาว ลดลง ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีนี้ การฟื้นตัวของลูกค้าชาวจีนในโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว จะยังช้ากว่าโรงแรมระดับบนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจีน ผ่านมาตรการฟรีวีซ่า โดยปัจจุบันมีประเทศที่ให้วีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวจีนรวมกว่า 40 ประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ มัลดีฟส์
ต้นทุนของผู้ประกอบการโรงแรมในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กดดันความสามารถในการทำกำไรช่วง 1-2 ปีนี้ โดยปัจจุบันโครงสร้างต้นทุนธุรกิจโรงแรมไทยค่าแรงมีสัดส่วนสูงถึง 30% และยังถูกซ้ำเติมจากต้นทุนค่าไฟฟ้าและต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะที่ภาครัฐเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 ซึ่งปัจจัยทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วนผู้ประกอบการที่จ่ายค่าแรงงานต่ำกว่า 400 บาท/วัน สูงถึง 71% แต่การส่งผ่านต้นทุนยังทำได้จำกัดเนื่องจากภาวะการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรง
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ