วันนี้ (9 กันยายน 2567) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ารายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังการกล่าวเปิดงาน ACMA Business Forum 2024 ว่า ล่าสุดแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปบ้าง จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้บางอย่างเร่งด่วนขึ้น แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟสแรกจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายนนี้ตามกำหนดการเดิม โดยจะเริ่มแจกเงินให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะรวมผู้พิการ 2.2 ล้านคน รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน โดยคาดว่าจะเริ่มโอนเงินครั้งแรกในช่วงวันที่ 20 กันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนหลังรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายนนี้
ทั้งนี้ ท่ามกลางปัญหาวิกฤตประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยและอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ หากตัดปัจจัยลบช่วงโควิดออกไป ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1.9% เท่านั้น ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่เร็วที่สุดที่สามารถทำได้เลย คือ เสริมแกร่งจุดแข็งทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว การเป็น Medical and Wellness Hub หรือการใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เป็น Regional Connectivity เชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ต้องแก้ปัญหาการบริโภคภายในประเทศ ผ่านการแก้หนี้ครัวเรือนซึ่งรัฐบาลได้ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐออกมาตรการนำร่องไปแล้ว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อยืดระยะเวลาการผ่อนจ่าย ลดภาระหนี้ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปจะมีการหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อว่าธนาคารจะให้ความร่วมมือเนื่องจากมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยกว่า 90%
นอกจากเร่งแก้หนี้แล้ว อีกสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนห่างมากขึ้น จึงต้องมีการบูรณาการระบบภาษี ทั้งอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปิดช่องว่างของคนรายได้น้อย ดึงดูดประชากรคุณภาพให้มาอาศัยในไทย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ
เมื่อเทียบศักยภาพกับประเทศคู่แข่งในด้านต่าง ๆ ไทยควรตั้งเงื่อนไขทางภาษีที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับอัตราภาษี โดยไม่ว่าจะปรับไปแนวทางไหน จะต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ เพื่อให้การส่งออกสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักถึง 65%
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ