แม้ปีนี้ สำหรับคนซื้อบ้าน จะมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระคนไทย ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ และยังมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทางธนาคารของรัฐอีกหลายโครงการ เพื่อขยายโอกาสการกู้ซื้อบ้านให้กับคนไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การซื้อบ้านของคนยุคนี้ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด นอกจากดอกเบี้ยแพง, กู้ยาก, ธนาคารเข้มในการอนุมัติสินเชื่อ, กฎเกณฑ์การกำหนดวางดาวน์จากมาตรการเหล็ก LTV แล้ว อีกปัจจัยสำคัญ คือ ราคาที่อยู่อาศัยที่แพงเกินจะเอื้อมถึง ประกอบกับค่าครองชีพแพง เศรษฐกิจฟื้นช้า
ปัจจัยลบเหล่านี้ได้ส่งผลทำให้ความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระของคนไทยลดลง การจะมีบ้านสักหลัง จึงเป็นเรื่องยากเหลือเกิน...
“ย้อนไปในอดีต ดอกเบี้ยธนาคารต่ำ 4-5% ภาระผ่อนบ้านราคา 1 ล้านบาทจะอยู่ที่ราว 4,500 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยขยับสูง บ้าน 1 ล้านต้องมีกำลังผ่อนถึง 6,000 บาท/เดือน นั่นเท่ากับว่าคนซื้ออาจต้องมีรายได้ต่อเดือนสูงถึง 18,000 บาท ทั้งๆ ที่ในอดีตผู้กู้ที่มีรายได้แค่ 12,000 บาทก็สามารถซื้อบ้าน 1 ล้านบาทได้แล้ว”
ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยข้อมูลน่าตกใจว่า ปัจจุบันการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในหลายเมืองสำคัญทั่วโลก เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะพบว่าราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยของเมืองต่างๆ (เฉพาะเอเชียแปซิฟิก) สูงกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยหลายเท่าตัว เช่น...
สำหรับกรุงเทพฯ ของไทย ความยากก็ไม่แพ้กัน เพราะพบว่าราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ สูงกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยถึง 21 เท่า หรือ ต้องใช้เวลาถึง 21 ปี กว่าจะมีบ้านหรือคอนโดฯ ในเมืองกรุงได้สักยูนิต
อ่านข่าว : “ราคาบ้าน”พุ่ง! แซงคนซื้อ หนี้เสีย “สินเชื่อบ้าน” ทะลัก 1.2 แสนล้าน สัญญาณคนไทยเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว
ทั้งนี้ มาจากข้อมูลที่พบว่า ปัจจุบันต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดันราคาที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มทุกพื้นที่ในไทย ขณะที่รายได้เพิ่มช้ากว่า โดยพบว่า ช่วงปี 2561 - 2567 ราคาที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั่วประเทศเพิ่มเฉลี่ย 9.1% ต่อปี ส่วนค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยเพิ่ม 1.2% ต่อปี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังระบุว่า ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยช่วงข้างหน้ายังท้าทาย จากรายได้ไม่แน่นอน ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยังไม่ดี และภาระรายจ่ายและหนี้ครัวเรือนสูง
สอดคล้องกับข้อมูลวิเคราะห์ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ที่เคยคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ปี 2567 ว่า ท่ามกลางความท้าทายบนสถานการณ์ที่คาดเดาอนาคตไม่ได้นี้ ผู้บริโภคระดับกลาง-ล่าง ควรต้องรักษาวินัยทางการเงินอย่างมาก นอกจากจะต้องมีแผนรับมือในกรณีที่ดอกเบี้ยไม่ได้ปรับลดลงแล้ว ควรมีแผนฉุกเฉินในกรณีที่ดอกเบี้ยเข้าสู่ยุคขาขึ้นอีกครั้งด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยโดยที่ไม่ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกับผู้บริโภคกลุ่มนี้เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียที่อาจตามมาอีกด้วย
ที่มา : REIC ,ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ,ดีดีพร็อพเพอร์ตี้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney