ครม.มีมติเลื่อนจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย ให้รอ ครม.ชุดใหม่ โดยระหว่างนี้ให้หน่วยงานเข้มงวดตรวจสอบ 5 มาตรการ เช่น เพิ่มความถี่ตรวจตู้ ตรวจคุณภาพสินค้า เร่งรัดผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศจดทะเบียนในไทย ช่วยเอสเอ็มอีสู้สินค้านอก ด้าน “สรรพสามิต” ทำบันทึกความเข้าใจ “แฟลชเอ็กซ์เพรส” ยกระดับป้องกันสินค้าเลี่ยงภาษี
นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เลื่อนเรื่องการตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอออกไปก่อน เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารจัดการ เพราะหากเสนอให้ ครม.ชุดนี้เห็นชอบ ก็ต้องนำเสนอกลับมาให้ ครม.ชุดใหม่พิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นรอ ครม.ชุดใหม่มาพิจารณาอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เร็วๆ นี้
ขณะที่มาตรการป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นเจ้าภาพหลักในการรับเรื่องร้องเรียนนั้น ได้มีการเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว รวม 5 มาตรการ 63 แผนปฏิบัติการ ครม.ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไปเร่งบังคับใช้ระเบียบกฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มข้น ตาม 5 มาตรการหลักที่เสนอมา
มาตรการที่ 1 ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบกฎหมาย โดยบูรณาการกับหน่วยงานการตรวจสินค้า ณ ด่านศุลกากร ด้วยการเพิ่มความถี่การเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่มความถี่ของการตรวจสอบจากเดิม 20% ของตู้สินค้า เป็น 30% รวมทั้งการเพิ่มความถี่การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายไทย
มาตรการที่ 2 ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทยเพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแล ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศ รวมถึงต้องเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด
มาตรการที่ 3 เป็นมาตรการด้านภาษี กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายภาษี สำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขณะเดียวกันต้องจัดอบรมความรู้เชิงเทคนิคให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
“เมื่อเรามีประกาศที่ชัดเจนแล้ว ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างประเทศต้องมาจดทะเบียนนิติบุคคล และมีสำนักงานในไทยเพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษี และดูแลได้อย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลกำลังเร่งปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์ในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากพบว่าไม่เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลในไทย ก็อาจมีมาตรการตอบโต้ตามความเหมาะสม”
นายศึกษิษฏ์กล่าวต่อถึง มาตรการที่ 4 เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต ขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่านอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยแข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่
5.สร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่านอี-คอมเมิร์ซ ต่างประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับอี-คอมเมิร์ซในระดับภูมิภาค โดยทุกหน่วยงานต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ รายงานผลเป็นรายสัปดาห์ และต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล
วันเดียวกัน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันปราบปรามลักลอบนำส่งสินค้าผ่านพัสดุที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีสรรพสามิต กับบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เพื่อยกระดับการปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจสอบและอายัดสินค้าผิดกฎหมายที่มาฝากส่งเข้าสู่เส้นทางขนส่งได้.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่