เมื่อปี 2023 TasteAtlas เว็บไซต์อาหารชื่อดังที่จัดอันดับความอร่อยของอาหารหลากหลายจากทั่วโลก ได้จัดอันดับให้ “ผัดกะเพรา” เมนูยอดฮิตของคนไทย เป็น 1 ใน TOP 3 เมนูอาหารที่ดีที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีเมนูอาหารไทยอื่น ๆ อีก 4 รายการ อย่าง ข้าวซอย แกงพะแนง ต้มข่าไก่ และแกงมัสมั่น ติดลิสต์ 100 อาหารจานที่ดีที่สุดร่วมด้วย สะท้อนว่าอาหารไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อกล่าวถึงรสชาติและความอร่อยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
นี่เองทำให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับอาหาร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม ยอมรับของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่นับเมนูเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง “ชาไทยเย็น” ที่กำลังสร้างเรื่องสร้างราวในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มคนจีน คนเกาหลี อีกด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด ระบุว่า อาหารไทยถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญในการสร้างสรรค์จุดเด่นหรือจุดขายให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การท่องเที่ยว มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 982,585 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% ของ GDP
ซึ่งปัจจุบัน การท่องเที่ยวเชิงอาหารได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ก่อเกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างการเดินทาง เช่น การท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมวัฒนธรรมของอาหาร การไปลิ้มลองอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นต่าง ๆ การทดลองทำอาหารท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยว เรื่อยไปจนกระทั่งงานเทศกาลอาหารต่าง ๆ
ทั้งนี้ Global Culinary Tourism Market 2020-2027 เผยแพร่ข้อมูลว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกมีอัตราการเติบโตเกือบ 17% ขณะนักท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกในรูปแบบบินไปกิน! สูงถึง 5.4 พันล้านคนต่อปี พร้อมคาดว่า ภายในปี 2570 การท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกจะมีมูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยในปี 2022 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 23,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 4% ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลก
อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงประเทศต้นแบบที่นำอาหารมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวได้ประสบความสำเร็จที่สุด กระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ในจุดเด่นนั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พิถีพิถันในรายละเอียดขั้นตอนการทำอาหาร รวมถึงใส่ใจในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีความสร้างสรรค์ และมีการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น ซูชิ ซาซิมิ เนื้อโกเบ ราเมน สุกี้ยากี้ญี่ปุ่น เป็นต้น จึงทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปลิ้มลองอาหารท้องถิ่นในแต่ละเมืองของญี่ปุ่น
สำหรับโอกาสของประเทศไทยนั้น การท่องเที่ยวเชิงอาหารมีความน่าสนใจ มีความหลากหลาย และมีศักยภาพไม่แตกต่างกัน เนื่องด้วยประเทศไทยมีวัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ทำให้มีเมนูอาหารประจำถิ่น และมีการจัดเทศกาลอาหารเพื่อโปรโมทอาหารและการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดสำคัญ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ จันทบุรี เป็นต้น
ซึ่งแต่ละท้องถิ่นหรือภูมิภาคควรผลักดันอาหารที่สะท้อนถึงประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์การทำอาหาร และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหลัก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการจัดงานเทศกาลอาหาร (Food Festival) โดยการนำเสนออาหารและเครื่องดื่มท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราววิถีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาของแต่ละชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันการตลาดรูปแบบใหม่ โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีความน่าเชื่อถือ และมีช่องทางการติดตามบนโซเชียลมีเดีย มาช่วยโปรโมทและรีวิวสินค้า (Key Opinion Leader: KOL) และใช้ผู้มีอิทธิพลทางการตลาดที่มาจากผู้บริโภคที่ใช้สินค้าและบริการ
สามารถนำไปสู่การบอกต่อ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการเป็นอย่างมาก ดังนั้น ภาครัฐควรเข้าไปส่งเสริมการทำการตลาดให้กับร้านอาหารที่ขาดความรู้และทักษะในการทำการตลาดแบบ KOL และ KOC รวมทั้งการสร้างเนื้อหาเรื่องราว (Content) บนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เป็นที่รู้จักและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นั่นคือโอกาส.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney